
ค่าเงินบาทไทยในตอนนี้ นับว่าแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน ที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะยิ่งทยอยแข็งค่าขึ้นตามทิศทางของสภาวะเศรษฐกิจโลก ที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงตามความเชื่อมั่นที่มีต่อสินทรัพย์สหรัฐลดลง จากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของประธานาธิบดี โดนัลท์ ทรัมป์ และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากเศรษฐสหรัฐมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เป็นผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้น และผลักดันให้ค่าเงินบาทมีโอกาสแตะที่กรอบ 32.50 - 33.50 บาท ณ สิ้นปี 2568 นี้
ในช่วงระยะสั้น ท่ามกลางอารมณ์ของตลาดทุนที่คลายความกังวลไปบ้างจากนโยบายของทรัมป์ ที่เริ่มมีการเจรจาต่อรองกับหลาย ๆ ประเทศ ประกอบกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร หรือ Non-Farm Payrolls ล่าสุดที่ขยายตัวดีกว่าคาด (ออกมาที่ระดับ 177,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดไว้ 138,000 ตำแหน่ง) และอัตราการว่างงานของสหรัฐที่ยังคงทรงตัวอยู่ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์รีบาวด์กลับมาแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นในระยะยาวกลับมีน้อยนัก เพราะเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของทรัมป์ในการพยายามเปลี่ยนระเบียบการค้าโลก ด้วยการใช้นโยบายการขึ้นภาษีตอบโต้ หรือ Tariff เป็นแกนหลัก เพื่อจะก่อร่างระบบเศรษฐกิจของตัวเองใหม่จากการเติบโตด้วยหนี้และสถานะของการเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปลี่ยนไปเป็นการลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน และกลับมาเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมสำคัญ เพื่อสร้าง Supply Chain ที่ปลอดภัย
แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น สหรัฐจะต้องตกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการพยายามปรับ Stucture ของระบบเศรษฐกิจตัวเอง เช่น การที่ประชาชนต้องเผชิญกับสินค้าที่แพงขึ้น และการใช้นโยบายกดดันประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะกับจีน ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐโดยตรง โดยเฉพาะการถือเงินดอลลาร์สหรัฐเอาไว้ในมือ ซึ่งที่ผ่านมาในยุคของทรัมป์ 1.0 ที่เริ่ม Trade War ในระยะแรกก็ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ลดการถือเงินดอลลาร์ แล้วเปลี่ยนมาซื้อทองคำเอาไว้แทน โดยจวบจนปัจจุบัน ราคาของทองคำก็มีทิศทางที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผกผันกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
โดยจากข้อมูลของกลุ่มตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB FM รายงานว่า กระแสเงินทุนได้มีการเคลื่อนย้ายไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยมากขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สอดคล้องกับทิศทางเงินทุนโลก ที่เคลื่อนย้ายออกจากตลาดสหรัฐ เข้าสู่ทั้งยุโรป และ Emerging Markets และในระยะต่อไป สหรัฐจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ Tariff ของตัวเอง ส่งผลต่อการที่ตลาดจะเทขายสินทรัพย์สหรัฐ เงินทุนจะไหลออกจากตลาดสหรัฐต่อ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ย ซึ่งทาง SCB FM มองว่า จะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อ ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งจะยิ่งช่วยหนุนกลไกตลาดให้ราคาของเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะที่กรอบ 32.50 - 33.50 บาทในสิ้นปีนี้
สำหรับการลงทุนที่แนะนำ การซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนในกลุ่มผู้ส่งออกอาจพิจารณาขายสินค้าในช่วงระยะสั้นนี้ ที่ตลาดคลายความกังวลของมาตรการขึ้นภาษีสหรัฐ และการที่ไทยยังไม่ สามารถดีลต่อรองภาษีกับสหรัฐได้ ซึ่งจะกดดันให้ค่าเงินบาทไทยยังอ่อนค่าลงราว 33.50, 34.00 และ 34.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนผู้นำเข้า หากรอในช่วง Fed มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อาจพิจารณาเข้าซื้อที่ราว 33.00, 32.85 และ 32.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแนะนำพิจารณาซื้อพันธบัตรไทยอายุ 2 ปี ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 1.50% เพื่อรอผลการลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโนบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย อีก 2 ครั้งในช่วงปีนี้ ซึ่งมีโอกาสอัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือ 1.25% ในปีนี้
ข่าวเด่น