
การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ ที่ได้ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แม้สหรัฐจะประกาศระงับการขึ้นกำแพงภาษีเป็นเวลา 90 แล้วก็ตาม เพื่อให้ประเทศคู่ค้ามีเวลาได้เตรียมตัว แต่ความไม่ชัดเจนดังกล่าว หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น เวียดนาม ที่จับมือหารือข้อตกลงการค้าต่างตอบแทนกันแล้ว หรือจะเป็นกัมพูชาที่กำหนดวันเจรจาภาษีที่แน่นอนในช่วงกลางเดือนนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของประธานาธิบดี โดนัลท์ ทรัมป์ และแนวทางการตอบโต้ตาต่อตาฟันต่อฟันของจีน เศรษฐกิจไทยจึงเหมือนกับโดนแขวนไว้บนเส้นด้าย ที่เสี่ยงตกต่ำลงจากหลาย ๆ ปัจจัยรุมเร้าซ้ำเติม
ทางธนาคารโลก (World Bank) ได้ประมาณการปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2568 จากเดิม 2.9% เหลือเพียง 1.6% นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ทำการปรับลด GDP ไทยเช่นกันอยู่ที่ 1.8 % จากเดิม 2.9 % เนื่องจากนโยบายการค้าจากสหรัฐที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้นนี้ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการลงทุนในไทยอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.1% ลดลงจากเดิมที่ตั้งไว้ 3.0% เนื่องจากแรงกดดันการค้าโลก ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโดยรวม
ด้วยหนทางรอดของเศรษฐกิจไทยในด่านสำคัญ ขึ้นอยู่กับการบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐที่จะหาทางโอนอ่อน ไม่ให้สหรัฐทำการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 36 จากประเด็นที่ไทยมีการเกินดุลทางการค้ากับสหรัฐมากที่สุดเป็นอันดับท็อป 10 แต่ในทางกลับกันที่ขั้วอำนาจของโลกไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว ประเทศจีนที่เป็นอีกฟากของแรงกดดันการค้าโลกในขณะนี้ ได้มีการประกาศว่า ไม่ว่าจะประเทศไหนที่เจรจากับสหรัฐแต่กลับทำให้จีนเสียประโยชน์จากการเจรจานั้น ๆ จะได้รับการตอบโต้กลับจากทางจีน ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เมื่อปี 2567 พบว่า จีนเป็นประเทศที่นำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในไทย มากสุดเป็นอันดับ 2 ด้วยมูลค่าลงทุน กว่า 170,000 ล้านบาท (ส่วนสหรัฐอยู่ที่อันดับ 7) ขณะที่ตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทย คือสหรัฐ ด้วยมูลค่าตลาดที่ 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงนับว่า ไทย กำลังเผชิญกับแรงกดดันทั้ง 2 ด้าน ทั้งจากทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ด้านบนและด้านล่าง ทำให้การวางตัวเป็นกลางของไทยจากทั้งสหรัฐและจีน อาจต้องทรงตัวคานน้ำหนักอย่างยากลำบากมากขึ้น
ด้วยปัจจัยกดดันดังกล่าวนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะซบเซาลง และเสี่ยงโตต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียในปีนี้ สำหรับด้านการลงทุน นักลงทุนต่างก็มีท่าทีลังเลที่จะลงทุน เนื่องจากต้องเฝ้าดูสถานการณ์ความไม่มั่นคงดังกล่าวในระยะนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องเซฟตัวเองด้วยการระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อผนวกเข้าด้วยกับภาคการท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวเข้ามายังไทยไม่มากตามเป้าที่วางไว้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลง ซึ่งนอกจากจะมีส่วนต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติลดลงตามไปด้วยแล้ว สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอีกอย่างที่สำคัญ คือ เรื่องของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือ หนี้เสีย ที่ได้รับผลกระทบอย่างสัมพันธ์กันหมด จากเงินในกระเป๋าและความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงตามไปด้วย แม้ทางคณกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จนเหลือ 1.75% แล้วก็ตามในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมากล่าวถึงการรับมือนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐแล้วว่า ทางรัฐบาลได้มีการเตรียมการสำหรับทางออกในหลาย ๆ ทาง ทั้งเรื่องของสินค้าเกษตร และดีลทางการค้าเฉพาะเพื่อต่อรองกับทางสหรัฐ นอกจากนี้ ระหว่างนี้ไทยกับสหรัฐมีการเจรจาแบบไม่เป็นทางการอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างหนักแน่นที่สามารถมีโอกาสบรรลุข้อตกลงที่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยเมื่อวันที่การเจรจาอย่างเป็นทางการมาถึง โดยหากรัฐบาลไทยสามารถเจรจากับสหรัฐหาทางต่อรองการลดภาษีนำเข้าได้สำเร็จ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินว่า จะหนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ได้ในปีนี้
ข่าวเด่น