แฟชั่น-เดินทาง-กินดื่ม-เที่ยว
Scoop : "แอ่วเหนือคนละครึ่ง" โครงการอุดหนุนเงินจากภาครัฐ หวังกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคเหนือ


จากปัญหาน้ำท่วมทางภาคเหนือ ที่ได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภูมิภาคดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนส.ค. - ต.ค. 2567 ล่าสุดทางรัฐบาลได้มีการจัดแคมเปญ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” เป็นโครงการนำร่องเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้ง 17 จังหวัดของภาคเหนือในช่วง 1 พ.ย. - 31 ธ.ค. 2567 โดยรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนจำนวน 400 บาท แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปภาคเหนือและเข้าพักกับโรงแรมที่ร่วมโครงการ จำนวน 10,000 สิทธิ สามารถใช้จ่ายได้ทั้งเป็นค่าโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และกิจกรรมต่าง ๆ ในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งภาครัฐมีความคาดหวังว่า โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง จะเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้ให้กลับคืนสู่ปกติ
 
ภายหลังจากที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดแคมเปญ “Thailand Winter Festivals” ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ โดยมีเป้าหมาย กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเมื่อช่วยปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมานั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับรัฐบาล ได้จัดโครงการนำร่องเพื่อปูทางเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนืออย่าง “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ที่มอบเงินสนับสนุนให้กับนักท่องเที่ยวจำนวน 400 บาท เอาไปใช้จ่ายในหมวดท่องเที่ยวตามโรงแรม และร้านค้าต่าง ๆ ที่ร่วมรายการทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ โดยลักษณะการให้เงิน จะเป็นการที่ภาครัฐช่วยนักท่องเที่ยวออกคนละครึ่ง หรือเรียกว่าเป็นการมอบส่วนลด 50% รวมมูลค่าไม่เกิน 400 บาท  จำนวน 10,000 สิทธิ์  (1 คน/1 สิทธิ์) ซึ่งหากอยากใช้เต็มจำนวนที่โครงการออกให้ เท่ากับว่า นักท่องเที่ยวต้องออกอีก 400 บาท รวมแล้วเป็น 800 บาทต่อคนต่อทริป หากมีการใช้จ่ายมากกว่ากำหนดจะต้องจ่ายเอง
 
วิธีลงทะเบียนรับสิทธิ์แอ่วเหนือคนละครึ่ง
 
 
 
สำหรับการลงทะเบียนรับสิทธิ์ นักท่องเที่ยวจะต้องทำการสแกน QR Code กับที่พัก หรือโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งแปลว่าเราจะต้องทำการเข้าพักกับที่พักดังกล่าว เพื่อเป็นการยืนยันในการรับสิทธิ์ได้เงินอุดหนุน 400 บาท โดยจะต้องทำการกรอกข้อมูล แสดงผลการลงทะเบียนกับพนักงาน เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับสิทธิ์ส่วนลดแล้ว จะมีระยะเวลาในการใช้ภายใน 3 วัน (72 ชั่วโมง) นับจากเวลาที่ได้รับ SMS ยืนยันว่าลงทะเบียนสำเร็จ
 
วิธีใช้สิทธิ์แอ่วเหนือคนละครึ่ง
 

หลังจากที่ลงทะเบียนสำเร็จ นักท่องเที่ยวสามารถใช้สิทธิ์ส่วนลด 50% จำนวน 400 บาท โดยทำการสแกนป้าย QR Code กับที่พักและร้านค้าประกอบการต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการ โดยกรอกเบอร์โทรศัพท์ เพื่อรับ OTP ยืนยันตัวตน ระบุยอดใช้จ่ายตามจริง และกดใช้สิทธิ์ส่วนลด จากนั้นโชว์ให้ร้านค้าถ่ายใบเสร็จเก็บเอาไว้เป็นอันเสร็จ
 
ตัวอย่างการคำนวนส่วนลดคนละครึ่ง


จากภาพด้านด้านบน หากยังมีสิทธิ์คงเหลือที่ 400 บาท เมื่อเลือกที่จะเอาไปใช้จ่ายกับค่าโรงแรมจำนวน 600 บาท เท่ากับว่า โครงการจะออกให้ 300 บาท เราต้องออกเองอีก 300 บาท และจะเหลือสิทธิ์อีก 100 ที่จะสามารถเอาไปใช้กับร้านค้าที่ร่วมรายการอื่น ๆ ได้ (ไม่สามารถใช้ซ้ำกับร้านเดิมได้) โดยต้องมียอด 200 บาทขึ้นไป
 

 
ด้านสัดส่วนสถานประกอบการที่เข้าร่วมแคมเปญแอ่วเหนือคนละครึ่งในเฟสแรกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. - 31 ธ.ค. 2567 มีทั้งหมด 554 แห่ง แบ่งออกเป็น โรงแรมที่พัก จำนวน 318 แห่ง ร้านอาหาร/ร้านคาเฟ่ จำนวน 160 แห่ง ร้านของฝากของที่ระลึก จำนวน 38 แห่ง กิจกรรม Workshop/ Activity จำนวน 8 แห่ง และอื่นๆ จำนวน 35 แห่ง ทั้งนี้สิทธิ์แต่ละร้านสามารถปรับ-ลดได้ตลอดแคมเปญ และมีสิทธิ์เต็มได้ตามภาพด้านบน โดยสามารถเข้าเช็กสถานะสิทธิ์คงเหลือ และดูรายชื่อผู้ประกอบการได้ที่ https://แอ่วเหนือคนละครึ่ง.com
 
ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ถือว่าเป็นฤดู High Season ที่มักจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทยและภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงราย และเชียงใหม่ ที่ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งตอนนี้จังหวัดดังกล่าวได้มีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่หลังจากประสบกับวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ ด้วยหลากหลายเทศกาล และงานประเพณี ให้สอดรับกับแคมเปญใหญ่ “Thailand Winter Festivals” ที่หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย Soft Power ของไทย เช่น งานประเพณีลอยกระทงยี่เป็งนครเชียงราย หรือ งานเคาต์ดาวน์เชียงราย 2025 ซึ่งการมีโครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง นำร่องเข้ามา คาดว่าจะเป็นการช่วยส่งเสริม และดึง Traffic ที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ภาคเหนือมากขึ้น อันเป็นการกระจายรายได้ อัดฉีดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยช่วงก่อนหน้านี้

LastUpdate 04/11/2567 20:35:28 โดย : Admin

04-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ 6 มิถุนายน 2555