แบงก์-นอนแบงก์
จับเทรนด์ประกันวินาศภัยปี 56 โหนกระแสปัจจัยบวก โกยเบี้ยทะลุ 2 แสนล้าน








หลังจากผ่านปี 2554 ที่ประกันวินาศภัยเผชิญ "มรสุมลูกใหญ่" อย่างปัญหาน้ำท่วมมาหนักแล้ว ปี 2555 ก็ถือว่ามีปัจจัยบวกเข้ามาหนุนภาคธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะมูลค่าเบี้ยกว่า 1.7 แสนล้านบาท ขยายตัวถึง 22% เรียกว่าเป็นสถิติการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ คำถามต่อไปจึงน่าสนใจว่าปี 2556 จะยังรักษาแรงส่งนี้เอาไว้ได้ต่อไปหรือไม่

"จีรพันธ์ อัศวะธนกุล" นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย บอกว่า ทิศทางของตลาดประกันวินาศภัยในปี 2556 น่าจะยัง "สดใส" ต่อเนื่อง ประเมินว่าเบี้ยน่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 15% หรือเท่ากับว่ามูลค่าจะพุ่งขึ้นไปถึงราว 2 แสนล้านบาทได้เป็นครั้งแรก

เหตุผลที่ทำให้เขามั่นใจเช่นนั้น เพราะประเมินแล้วว่าปัจจัยบวกมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีรถคันแรกที่มีคนใช้สิทธิ์และยังรอส่งมอบรถในปี 2556 อีกหลายแสนคัน รวมถึงการเติบโตของรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้น ก็มีกำลังซื้อประกันอุบัติและสุขภาพได้มากขึ้น

"แรงส่งจากความตื่นตัวเรื่องภัยธรรมชาติก็ยังมีอยู่พอสมควร แต่ถ้ามองในแง่มูลค่าเบี้ยก็อาจไม่ได้ขยายตัวมากนัก เพราะสถานการณ์ในปี 2555 ที่ไม่เกิดภัยพิบัติก็ลดทอนแรงกดดันลงไป ค่าเบี้ยประกันภัยที่แพงขึ้นถึง 10 เท่าตัวในปีที่ผ่านมานั้น พอมาถึงปี 2556 ก็น่าจะลดลงไป 20-30% เงื่อนไขการความคุ้มครองที่เคยเข้มงวดมากๆ ก็คงปรับตัวดีขึ้นด้วย"

ส่วนเรื่องแนวโน้มเรื่องสินค้าประกันภัยใหม่ๆ นั้น จีรพันธ์เชื่อว่า ส่วนใหญ่จะเน้น "เพิ่มลูกเล่น" เข้าไปในสินค้าพื้นฐานเดิมมากกว่า เช่น ประกันรถยนต์ที่เพิ่มความคุ้มครองภัยก่อการร้าย และน้ำท่วม ขณะเดียวกันช่องทางขายก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยการเข้าถึงลูกค้า ซึ่งช่องทางใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าจะเริ่มเป็นแนวทางใหม่ๆสำหรับธุรกิจประกันภัย

อีกประเด็นหนึ่งที่พูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือ แนวโน้มการควบรวมธุรกิจของบริษัทประกันวินาศภัย โดยเฉพาะบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม และไม่มีความสามารถเพิ่มทุนได้เอง ก็ต้องอาศัยทุนจากบริษัทอื่น หรือแม้แต่หาผู้ถือหุ้นรายใหม่จากต่างประเทศเข้ามาแทน ซึ่งจีรพันธ์เชื่อว่าจะเห็นแนวโน้มดังกล่าวมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ เพราะทุกบริษัทก็ต้องเตรียมปรับตัวรองรับการแข่งขันที่จะหนักขึ้นเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 

อย่างไรก็ตาม จีรพันธ์บอกว่า แนวโน้มการควบรวมอาจยังมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมายด้านภาษีที่ยังไม่เอื้อให้ทำได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นก็ถือว่าไม่ง่ายซะทีเดียว ส่วนปัจจัยลบในมุมของเขาเห็นว่า ปัจจัยหลักๆ คงมีเพียงเรื่องภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ทำได้เพียงเตรียมตัวให้พร้อมรับมือหากเกิดเหตุขึ้น รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองที่เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของประเทศ ขณะที่ปัจจัยใหญ่ๆ ระดับโลกอย่างปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปก็อาจกระทบบ้างในฝั่งการลงทุนของบริษัทประกัน ที่จะกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน

นี่คือ ภาพรวมของตลาดประกันวินาศภัย ที่เรียกว่ายังคงเป็น "นาทีทอง" สำหรับการเติบโตอยู่ แต่จะรักษาแรงส่งเอาไว้ได้มากน้อยเพียงใด และจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเสริมให้การเติบยังวิ่งแรงอยู่ได้อย่างไร ต้องติดตามต่อไป


LastUpdate 05/01/2556 12:48:52 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:44 am