เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สำรวจผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บาท










ผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น วันละ 300  บาท ทั่วประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่  1 มกราคมที่ผ่านมา  ถือเป็น Talk  of the town ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคม  โดยเฉพาะการทยอยปิดโรงงานของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม  (SMEs)

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย ยอมรับว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยขณะนี้ผู้ผลิตสินค้าประมาณ 40 ราย ได้ปิดกิจการ โดยเฉพาะ 2 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สิ่งทอและอาหารแช่เยือกแข็ง เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานมาก มีลูกจ้างรวมกันประมาณ 2 แสนคน 

ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ตลอดปีนี้จะได้เห็นการทยอยย้ายฐานการผลิตของเอสเอ็มอีไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง   เนื่องจากมีค่าแรงที่ถูกกว่า และยังได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องภาษีส่งออกที่ต่ำกว่าไทย

ดังนั้น หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการ หรือนโยบายในการดูแลระยะยาว จะทำให้ไทยไม่พร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเริ่มขึ้นในอีก 2 ปี    

นายดนัย ดีโรจนวงศ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเครื่องสำอางขายตรงมิสทิน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตสินค้าที่จะต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถแบกรับภาระการตรึงราคาสินค้าไว้ได้ ดังนั้นหลายๆบริษัทจึงต้องปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการพยายามลดต้นทุนแทนการปรับราคาสินค้าที่ทำได้ไม่มาก
         
สำหรับเบทเตอร์เวย์ มีแผนจะปรับราคาสินค้าทุกกลุ่มขึ้นอีกประมาณ 3-5% ในปีนี้ ถือเป็นการปรับราคาในรอบ 5 ปี เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ได้อีก ทั้งจากวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าโฆษณา และสิ่งที่กังวล คือ ภาวะเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นตาม

ขณะที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 มกราคม นี้ จะเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพิ่มเติมอีก  5 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การลดค่าธรรมเนียมห้องพักโรงแรม ที่พัก โดยจะลดอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจรายปีลงร้อยละ 50 จากปัจจุบันที่จัดเก็บห้องละ 80 บาท ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี 2.การจัดคลินิคพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานศึกษาและสถานประกอบการ

3.การเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน 4.การจัดคาราวานสินค้าราคาถูก ไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ โดยกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบนำไปจัดจำหน่ายในโครงการธงฟ้า และมาตรการสุดท้าย คือ การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 ซึ่งทำให้รายได้ของรัฐลดลงไปประมาณ 20,000 ล้านบาท จากที่เคยจัดเก็บได้ 60,000 ล้านบาทต่อปี
     

มาตรการลดผลกระทบปรับค่าจ้าง
1.ลดค่าธรรมเนียมธุรกิจโรงแรม ห้องพัก50% เป็นเวลา 3 ปี
2.จัดคลินิคพัฒนาฝีมือแรงงานในสถานศึกษาและสถานประกอบการ
3.เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ
4.จัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้าง
5.ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3 %เหลือ 2%


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ม.ค. 2556 เวลา : 12:34:36
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:45 am