หุ้นทอง
ถอดบทเรียนลงทุนปี 55 ปูพรมสู่เส้นทางทำกำไร รับปี "มะเส็ง"




ในช่วงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนหลายคนคงจะขมักเขม้นกับการจัดทัพปรับพอร์ตใหม่รับปี 2556 หรือปี "มะเส็ง"กันบ้างแล้ว บางคนยิ้มปรี่ เพราะทำการบ้านวางแผนมาดี แต่บางคนเร่งรีบเกินไปตั้งหลักไม่ทัน จนทำให้ต้องพลาดพลั้งก็มีให้เห็น ดังนั้นคงจะไม่เป็นการเสียเวลานัก ถ้าจะมาลองตั้งต้นใหม่ ทบทวนบทเรียนในปี 2555 เพื่อวางแผนลงทุนให้ดี ด้วยการใช้ประสบการณ์อดีตเป็นแนวทาง

ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยปี 2555 ถือว่าเป็นปีที่การลงทุนได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างประเทศมาก แต่ดัชนียังคงมีทิศทางปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย “ไตรมาสแรก” ถือเป็นช่วงที่ตลาดทุนโลกได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายการเงินผ่อนคลายของสหรัฐ ที่ส่งสัญญานดอกเบี้ยต่ำระดับ 0-0.25% ไปถึงปลายปี 2557 และมีแนวโน้มเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน จึงทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้น ได้รับแรงหนุน   

ประกอบกับในช่วงดังกล่าวเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นเดือนแรกปิดที่ 1,083.97 จุด เพิ่มขึ้น 5.72% จากสิ้นปี 2554 สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป)อยู่ที่ 8.89 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.75% 

จากนั้นตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ความคืบหน้าแก้ไขปัญหากรีซ และการแก้ปัญหาสภาพคล่องของยุโรปจากนโยบายปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารกลางยุโรป เป็นแรงส่งที่ดีให้การลงทุนคึกคักต่อเนื่อง     

และทำให้เกิดการสร้างสถิติใหม่หลายด้าน เช่น การปรับตัวขึ้นของดัชนี ที่ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ปิดที่ระดับ 1,160.90 จุด เพิ่มขึ้น 7.10% จากเดือนก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี มาร์เก็ตแคป อยู่ที่ 9.52 ล้านล้านบาท และเป็นช่วงที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 46,472 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2549   

ในระยะถัดมาตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวขึ้นจนกระทั่งปิดตลาดไตรมาสแรก (30 มี.ค.2555) ที่ดัชนีระดับ 1,196.77 จุด มาร์เก็ตแคป 9.9 ล้านล้านบาท      

ต่อมาในช่วง “ไตรมาส2” เป็นระยะที่ปัจจัยต่างประเทศเข้ามากดดันการลงทุน โดยเฉพาะเมื่อก้าวเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2555 ที่ดัชนีตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองในกรีซและฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นช่วงที่มีความวิตกเสถียรภาพสถาบันการเงินในสเปนและอิตาลี รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว จนทำให้ดัชนีที่เคยพุ่งขึ้นไปสูงสุดในไตรมาสนี้ที่ 1,240.03 จุด ถูกกระชากลงมาอย่างรุนแรงจนเหลือ 1,099.15 จุด       

และปิดไตรมาสนี้ ในวันที่ 29 มิ.ย.2555 ที่ดัชนีระดับ 1,172.11 จุด โดยมีมาร์เก็ตแคป 9.7 ล้านล้านบาท        

ย่างเข้าสู่ “ไตรมาส 3” แรงกดดันจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป โดยเฉพาะกรีซและสเปน รวมถึงการที่สหรัฐฯยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาชัดเจน ได้ส่งผลให้การลงทุนทั่วโลกชะลอตัว แต่ตลาดหุ้นไทยกลับได้รับผลดีจากการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/55 ที่หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มปิโตรเคมี ปรับตัวดีขึ้น จึงทำให้ทิศทางดัชนีในช่วง 3 เดือน ยังคงปรับตัวขึ้นต่อ และปิดที่ 1,298.79 จุด มาร์เก็ตแคป 10.8 ล้านล้านบาท

ขณะที่ช่วง “ไตรมาส4” ปัญหาทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ ยังคงเป็นประเด็นที่รบกวนบรรยากาศการลงทุน จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เนื่องจากตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยมีแนวโน้มเติบโตให้ผลตอบแทนที่ดี จึงทำให้ดัชนียังเป็นบวก และทะยานขึ้นไปสู่ระดับสูงถึง 1,339.88 จุด ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2555 โดยมีมาร์เก็ตแคปที่ระดับ 11.22 ล้านล้านบาท ซึ่งเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ไว้

จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในปี 2555 นั้น“อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ สำนักวิจัย ทิสโก้ ได้นำมาวิเคราะห์แนวโน้มปี 2556 ว่า การแกว่งตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะยังคงมีทิศทางขาขึ้น ซึ่งทางฝ่ายวิเคราะห์ประเมินว่า ดัชนีน่าจะไปถึงระดับ 1,450 จุด และมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวลงมาถึง 1,200 จุดได้ เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและลบรออยู่

โดยปัจจัยหนุนนำดัชนีมีทั้งที่มาจาก “ในประเทศ” คือ กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ที่คาดว่าจะดีขึ้น จากเม็ดเงินที่กระจายออกมาจากโครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้า โครงการป้องกันน้ำท่วม และการลดภาษีนิติบุคคล เหลือ 20% จากปีนี้ที่อยู่ระดับ 23%

ขณะที่ปัจจัยบวกใน “ต่างประเทศ” ได้แก่ เงินทุนไหลเข้า ที่คาดว่าน่าจะมีเม็ดเงินก้อนใหม่ไหลเข้ามาในตลาดไทยราว 5-6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากตลาดหุ้นในต่างประเทศยังมีความเสี่ยงอยู่ จึงทำให้ตลาดเอเชียรวมถึงได้รับอานิสสงส์

อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบที่จะกระทบต่อการลงทุนที่นักลงทุนควรจับตา คือ การแก้ปัญหาหนี้สินของกรีซ ว่าจะสามารถรัดเข็มขัดได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ซึ่งหากยังคงทำไม่ได้ ทางฝั่งยูโรก็อาจจะไม่ช่วยเหลือด้านการเงินอีก จนส่งผลเสียต่อบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังคงมีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูง ทั้งในอิตาลี สเปน และกรีซ

รวมถึง ความเสี่ยงเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่แม้จะมีการขยายไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีความน่าเป็นห่วงว่าจะชนเพดานที่ได้ขยายไปแล้วหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้คาดว่าน่าจะเห็นสัญญานชัดช่วงปลายไตรมาส 1 ปีหน้า  

ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุน ที่เหมาะสมสำหรับปีนี้ ควรจะใช้วิธี “เล่นรอบทำกำไรตามกรอบการแกว่งตัว” โดยจับจังหวะ “ขาย” เมื่อดัชนีมีทิศทางปรับตัวขึ้น และ “ซื้อ” เมื่อดัชนีปรับตัวลดลง

โดยกลุ่มที่ประเมินว่าน่าลงทุน ควรมีผลประกอบการเติบโตโดยอิงกับเศรษฐกิจในประเทศ และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าพอใจ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ แนะนำ  ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KK) เป็นต้น

รวมทั้ง กลุ่มไอซีที ที่ขณะนี้มีความคืบหน้าเรื่อง 3G ระดับหนึ่งแล้ว และพบว่าโดยภาพรวมหุ้นในกลุ่มดังกล่าว ให้เงินปันผลสูงเฉลี่ยราว 6-7% และแนะนำกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK) เป็นต้น

ขณะที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์ครั้งล่าสุด ที่ 2/2555 ซึ่งมีนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ 22 แห่ง ตอบแบบสอบถาม พบว่า ส่วนใหญ่มีมุมมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 2556 จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1,471 จุด สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ประเมินว่าจะอยู่ที่ 1,378 จุด ส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 15.2% สูงกว่าก่อนหน้าที่คาดว่าจะอยู่ราว 13.9%

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยบวกหลัก 3 ข้อ โดยอันดับแรกที่มีผู้ตอบสูงสุด คือ แรงหนุนจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ที่จะขยายตัวสูงในปีนี้ 86% รองลงมา คือ รัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลปี 56 เหลือ 20% มีผู้ตอบ 71% และอันดับสุดท้ายคือ ปัจจัยบวกอื่นๆ ทั้งด้านการลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศลง สหรัฐจะแก้ปัญหาหน้าผาทางการคลังได้ทัน และต่างชาติจะเข้ามาซื้อหุ้นไทยในปีหน้า มีผู้ตอบ 67%

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังคงมีปัจจัยลบที่กดดันการลงทุนอยู่ ได้แก่ ประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองของไทย หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผู้ตอบสูงสุด 90% รองลงมา คือ ปัญหาในยูโรโซน มีผู้ตอบ 76% และอันดับสุดท้าย ปัญหาในสหรัฐฯ มีผู้ตอบ 62%

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับปีนี้ แนะนำรอจังหวะทยอยซื้อสะสมในช่วงที่ตลาดปรับฐานลง โดยเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงสม่ำเสมอ หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และหุ้นที่อิงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก

โดยพอร์ตปี 2556 แนะนำ กระจายสัดส่วนการลงทุน แบ่งเป็น หุ้นหรือกองทุนหุ้นในประเทศ 45% หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ 11% ทองคำและโกลด์ฟิวเจอร์ส 11% ตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้ 17% เงินสดและเงินฝาก 13% อื่นๆ เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 3%

ฉะนั้นตั้งหลักศึกษาอดีตจนเข้าใจปัจจัยบวกลบที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนแล้ว...ก็คงไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะทำกำไรต่ออีกปี!!!

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ม.ค. 2556 เวลา : 00:02:18
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 6:16 am