ก.ล.ต. เปิด 4 กลยุทธ์ปี 2556 ผลักดัน 6 โครงการนำร่อง ยื่นมือตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป เตรียมออกเกณฑ์กลางรองรับการเสนอขายตราสารใหม่ตามระดับความเสี่ยงและความซับซ้อน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการเสนอสินค้าและบริการใหม่ พร้อมให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ investment supermarket สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุนได้อย่างทั่วถึง
ก.ล.ต. กำหนดแผนกลยุทธ์การดำเนินงานในปี 2556 จำนวน 4 ด้าน ได้แก่ 1) การยื่นมือไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้กิจการและประชาชนใช้ประโยชน์จากตลาดทุนมากขึ้น 2) การวางรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 3) การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการกำกับดูแล และ 4) การใช้โอกาสจากการเติบโตของประเทศในเอเชียที่มีการเติบโตสูงโดยมีเป้าหมายให้ตลาดทุนไทยสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ต้องการทุนและผู้ลงทุนทุกประเภท เอื้ออำนวยให้เกิดการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนี้
1) การยื่นมือไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้กิจการและประชาชนใช้ประโยชน์จากตลาดทุนมากขึ้น มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถการบริหารจัดการเงินและการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไป รวมถึงภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้อยู่ในระดับมาตรฐานและพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ช่องทางการเข้าถึงในหลายรูปแบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โครงการนำร่องที่จัดทำขึ้น ได้แก่
1.1) โครงการสนับสนุนให้เกิดการบริการแนะนำการจัดสรรการลงทุนสำหรับประชาชนทั่วไป (wealth management for the mass) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดสรรเงินลงทุนและสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ของการลงทุนของตน เพื่อให้มีทรัพย์สินเพียงพอกับการใช้จ่ายในระยาว โดยการดำเนินการผ่านทั้งช่องทางจัดจำหน่ายเดิม และส่งเสริมให้ตัวกลางอื่นมีโอกาสเข้ามาดำเนินธุรกิจ โดยจะเปิดให้มีใบอนุญาตประเภทใหม่ที่ให้บริการซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อการลงทุน (investment supermarket) เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าถึงและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้อย่างสะดวกและทั่วถึงยิ่งขึ้น
1.2) การส่งเสริมการระดมทุนของธุรกิจเอสเอ็มอีและกิจการกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนและใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการระดมเงินทุน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปิดเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเป็นการพัฒนาช่องทางโดยจัดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ กิจการที่ต้องการเงินทุน ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้สอบบัญชีที่ช่วยเตรียมความพร้อม และผู้ลงทุน
(ซึ่งรวมถึงธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ venture capital) ได้มีโอกาสพบปะกันผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เช่น เวทีพบปะสนทนา การสัมมนา การอบรม การสื่อสารผ่านเว็บไซต์หรือโซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งเสริมการระดมทุนนี้ยังเป็นการต่อยอดจากโครงการที่ ก.ล.ต. ได้ริเริ่มมาในปี 2555 เช่น โครงการหุ้นใหม่ ความภูมิใจของจังหวัด ซึ่งเน้นกิจการในต่างจังหวัด
2) การวางรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับทั้งการพัฒนากิจการในตลาดทุน พัฒนาผู้ลงทุน และสร้างกลไกให้เกิด market discipline และยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย โดยโครงการที่จัดทำ ได้แก่ การจัดทำ “แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นแผนแม่บทสำหรับพัฒนากิจการในตลาดทุนให้มีคุณภาพตามแนวคิดสากลเกี่ยวกับการเป็นบริษัทที่ดี ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล
รวมทั้งการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยกำหนดมาตรฐานและเสนอมาตรการที่ช่วยพัฒนากิจการ พัฒนาผู้ลงทุน และสร้างกลไกให้เกิดวินัยจากธุรกิจเอง (self discipline) และวินัยตลาด (market discipline) เพื่อเสริมกฎเกณฑ์จากทางการ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมบรรษัทภิบาลให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อเกื้อหนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย
3) การเพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นของระบบการกำกับดูแล เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนสามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว จนสามารถยกระดับการพัฒนาและศักยภาพในการแข่งขันได้เพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงระดับและความเร็วที่เหมาะสม เพื่อให้ทางการสามารถจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างฉับไว โดยโครงการริเริ่มที่จัดทำขึ้น ได้แก่ การจัดทำเกณฑ์กลางรองรับการออกและเสนอขายผลิตภัณฑ์
ทางการเงินใหม่ โดยจะแยกเกณฑ์ตามระดับความเสี่ยงและความซับซ้อน เพื่อส่งเสริมให้เสนอขายสินค้าได้ทันกับความต้องการและเกิดนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลาย
4) การสร้างโอกาสจากการเติบโตของประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีเป้าหมายเพื่อเข้าไปมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง พร้อมไปกับส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยขยายโอกาสทางธุรกิจจากกลุ่มประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมในการลงทุนระหว่างกันและมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก โครงการนำร่องที่จัดทำขึ้น ได้แก่
4.1) การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (networking and continued capacity building for Greater Mekong Subregion (GMS)) โดยประสานความร่วมมือในการยกระดับความสามารถ ตลอดจนการลงนามบันทึกความเข้าใจ และมีเวทีหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อสามารถพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
4.2) การสร้างเครื่องมือระดมทุนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศ GMS และการขยายโอกาสของกองทุนรวมไทยจากการเติบโตของกลุ่มประเทศ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานใน GMS พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. จะเปิดโอกาสให้กองทุนรวมไทยสามารถลงทุนใน GMS ได้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของกลุ่มประเทศดังกล่าว
“การริเริ่ม 6 โครงการนี้ชี้ให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทยที่ชัดเจน เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาวทั้งในและต่างประเทศ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถตอบโจทย์ของทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง ด้วยการดำเนินการเพื่อให้ตลาดทุนไทยมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งบนพื้นฐานของการมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นแหล่งทุนและแหล่งลงทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจและผู้มีเงินออม จนกลายเป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและทัดเทียมกับนานาประเทศได้ สอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่ต้องการให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกหลักในการรวบรวม จัดสรร และติดตามดูแลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ข่าวเด่น