ไอที
เปลี่ยนผ่านระบบ "ทีวีดิจิตอล" ในไทย






หลายคนคงสงสัยว่า  ทีวีดิจิตอล ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านระบบออกอากาศโทรทัศน์จากระบบอนาล็อก สู่ระบบดิจิตอล แตกต่างจากสัญญาณการออกอากาศในปัจจุบันอย่างไร   

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้อธิบายถึงโทรทัศน์ระบบดิจิทัล หรือ โทรทัศน์ดิจิตอล (Digital television) ไว้ว่า เป็นการส่งผ่านของเสียงและวิดีโอโดยสัญญาณดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งความคมชัดของภาพและเสียง การส่งข้อมูลแบบนี้สามารถส่งข้อมูลได้มากกว่าแบบอนาล็อกในหนึ่งช่องสัญญาณ จึงเรียกได้อีกอย่างว่า "Multicasting" การส่งสัญญาณเป็นแบบดิจิตอล จึงทำให้ได้คุณภาพของภาพและเสียงดีกว่า เช่น โทรทัศน์ระบบ HDTV ตรงกันข้ามอนาล็อกก็ใช้กับสัญญาณโทรทัศน์อนาล็อก หลายประเทศจึงเปลี่ยนการรับสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกเป็นโทรทัศน์ระบบดิจิทัล  

แต่ต่อมาเมื่อระบบคอมพิวเตอร์ได้มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางขึ้น จึงได้มีการนำระบบคอมพิวเตอร์นำมาพัฒนาใช้ในการช่วยโทรทัศน์ ต่อมาได้มีผู้เล็งเห็นว่าหากนำเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์มาผสมผสานกับเทคโนโลยีของโทรทัศน์ คงจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล ดังนั้นจึงได้ปรับปรุงโทรทัศน์ให้ใช้ระบบดิจิตอลด้วย

สำหรับการพัฒนาระบบโทรทัศน์ในประเทศไทย ล่าสุด พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชา ติ(กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.)  บอกว่า  คณะอนุกรรมการ กสท.ด้านการเปลี่ยนผ่านดิจิตอล  ได้มีมติให้การสนับสนุนผ่านการออกคูปองเงินสนับสนุนให้แก่คนไทย  ตามฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยที่มีอยู่ราว 22 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 1 ใบ โดยกำหนดให้เงินสนับสนุนในคูปองจะมีมูลค่าเท่ากับอัตราราคาตั้งต้นรวมของช่องรายการทีวีดิจิตอลในกลุ่มช่องธุรกิจ ที่ประกอบด้วย 20 ช่องปกติ  และ 4 ช่องความละเอียดคมชัดสูง (เอชดี) ที่จะมีการประมูลกันในเดือนกรกฎาคมนี้ หารด้วยจำนวน 22 ล้าน ที่มาจากฐานครัวเรือนในประเทศ

ส่วนมุมมองวงการเครื่องใช้ไฟฟ้า น.ส.สอางทิพย์ อมรฉัตร  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เพาเวอร์บายจำกัด  ผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า เพาเวอร์บาย ยอมรับว่า มาตรการแจกคูปอง เพื่อให้ประชาชนซื้อกล่องรับสัญญาณ(เซ็ตท็อป บอกซ์) สำหรับระบบดิจิตอล  เป็นเรื่องที่ดีที่จะช่วยประชาชนตัดสินใจซื้อกล่องรับสัญญาณ รวมทั้งช่วยกระตุ้นตลาดทีวีดิจิตอลระบบสมาร์ททีวี ให้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด

โดยประเมินว่า ภายหลังจากการเปลี่ยนระบบเป็นดิจิตอลน่าจะมีครัวเรือนที่เปลี่ยนมาใช้ทีวีดิจิตอลราว 15 ล้านครัวเรือน จากข้อมูลครัวเรือนไทย 20 ล้านครัวเรือนในปัจจุบัน

ส่วนความพร้อมของช่องต่างๆ สำหรับการประมูลทีวีดิจิตอลนั้น แหล่งข่าวจากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กล่าวว่า ทางช่องได้ทำสัญญาเอ็มโอยูร่วมกับ กสทช.เพื่อทดลองออกอากาศระบบดิจิตอลแล้ว  ซึ่งจะเริ่มออกอากาศในวันที่ 25 มกราค มนี้ ในเครือข่ายกรุงเทพฯปริมณฑล
 
ส่วนเรื่องการประมูลช่องรายการทีวีดิจิตอลนั้นช่อง 5 มีการวางแผนไว้แล้วว่าจะเข้าร่วมประมูล ซึ่งสำหรับช่อง 5 แล้วจะเข้าร่วมประมูลเดี่ยวหรือหาพันธมิตรร่วมประมูลนั้นต้องรอความชัดเจนจากทาง กสทช.ก่อนว่า ตารางเวลาการร่วมประมูลจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่อย่างไร

ด้านสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ได้ทดลองออกอากาศระบบดิจิตอลควบคู่กับระบบอนาล็อกมาระยะหนึ่งแล้ว มีการวางแผนว่าจะเข้าประมูลเช่นกัน และกำลังจะเซ็นเอ็มโอยูกับทาง กสทช.เช่นเดียวกับช่อง 5

ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ผู้ประกอบการน่าจะมั่นใจในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีของผู้บริโภคมากขึ้น  ถึงแม้มูลค่าคูปองจะถูกนำมากำหนดราคาตั้งต้นของการประมูลช่องรายการ ทำให้ภาระต้นทุน set-top box ยังตกอยู่กับผู้ประกอบการช่องรายการเช่นเดิม แต่การออกคูปองเป็นแนวความคิดที่เป็นรูปธรรม แบ่งเบาภาระผู้ประกอบการในการจัดหา set-top box ให้ผู้บริโภคเอง และยังไม่มีความเสี่ยงของภาครัฐในการจัดหาเม็ดเงินสนับสนุน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอลได้อย่างรวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นให้แก่บริษัทโฆษณา และทำให้การประมูลน่าสนใจมากขึ้น

LastUpdate 15/01/2556 11:00:38 โดย : Admin
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 10:17 pm