เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เอกชนอ่วมเงินบาทแข็ง - ค่าแรง 300








หลังการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของค่าเงินบาท จนปัจจุบันทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 16 เดือน ไปแล้ว โดยแตะที่ระดับ 29.84 29.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เริ่มมีเสียงสะท้อนจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง  กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลเกี่ยวกับส่งออกของไทย   ผู้ประกอบการ  และนักวิชาการ 

างวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง กรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ว่า ได้มอบหมายให้ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินสถานการณ์ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ว่าค่าเงินบาทจะยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก ทางกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรมีมาตรการดูแลค่าเงิน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะต้องประเมินสถานการณ์และพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกอีกทางหนึ่งด้วย

ด้านภาคเอกชน นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.  บอกว่า เอกชนต้องการให้ ธปท.ดูแลให้ค่าเงินบาทเกาะกลุ่มกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย เพราะถ้าไม่สามารถบริหารค่าเงินบาทให้เกาะกลุ่มภูมิภาคไว้ได้จะกระทบการส่งออก ซึ่งค่าเงินบาทที่เหมาะสม ไม่ควรแข็งค่ามากกว่า 30 บาท ซึ่งที่ผ่านมาค่าเงินอยู่ที่ 30 บาท ก็เป็นระดับที่ผู้ส่งออกรับมือได้  ส่วนการปรับตัวในระยะสั้น ผู้ส่งออกยังคงใช้วิธีการซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวน  

ส่วน นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นกระทบต่อโอกาสในการทำกำไรของผู้ประกอบการขนาดเล็ก

โดยการแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ ชัดเจนว่าเกิดจากการเข้ามาเก็งกำไร ทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ได้กระทบกำไรของผู้ประกอบการแล้วประมาณ 0.5 - 1%

ด้านนักวิชาการ นายอัทธ์ พิศาลวานิช  คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  บอกว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากว่า 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)  ซึ่งตอนนี้ได้รับทั้งจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า และปัญหาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท

ดังนั้น ขณะนี้ถือเป็นโอกาสของเอสเอ็มอี ที่มีปัญหาเรื่องค่าแรง 300 บาท อยู่แล้ว ควรมีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อใช้แทนแรงงาน แต่สิ่งที่สำคัญ คือ รัฐบาลต้องมีมาตรการจูงใจ หรือส่งเสริมให้มีการนำเข้าเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ยังคงมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะปัญหาหนี้ยุโรป เศรษฐกิจสหรัฐ จะทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียและไทย ส่วนผลกระทบกับผู้ประกอบการส่งออก คาดว่าจะเห็นผลชัดเจน ในการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2556

ณ เวลานี้ ผลจากการแข็งค่าของเงินบาท  เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ธปท.  คงจะนิ่งดูดายไม่ได้แล้ว  ส่วนจะมีมาตรการลดผลกระทบอย่างไร คงติดตามต่อไป


LastUpdate 16/01/2556 22:04:58 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 9:39 am