กสิกรไทย จับมือสถาบันการเงินชั้นนำต่างประเทศ ให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดหาเครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 2 ลำ โดยธนาคารกสิกรไทยถือเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่ให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อจัดหาเครื่องบินร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำต่างประเทศ
ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อจัดหาเครื่องบินแอร์บัส เอ330-300 จำนวน 2 ลำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาเครื่องบินของการบินไทยระหว่างปี 2554 -2557 เพื่อพัฒนาฝูงบินและเพิ่มศักยภาพทางการเงิน โดยการบินไทยจะนำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมาให้บริการในเส้นทางบินภูมิภาค อาทิ นาริตะ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ไทเป เป็นต้น เครื่องบินแอร์บัส A 330-300 สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 299 ที่นั่ง แบ่งเป็นที่นั่งชั้นธุรกิจ 36 ที่นั่ง และที่นั่งชั้นประหยัด 263 ที่นั่ง พร้อมติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารอย่างครบครัน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า และเครื่องบินใหม่ยังช่วยให้การบินไทยบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับการได้รับความร่วมมือทางการเงินในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การบินไทยได้รับความเชื่อมั่นในการบริหารกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลจากกลุ่มสถาบันการเงิน
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ได้รับความไว้วางใจจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่งตั้งเป็น Mandated Lead Arranger ร่วมกับธนาคารเครดิต อะกรีโคล คอปอร์เรท แอนด์ อินเวสเม้นท์ (Credit Agricole Corporate and Investment Bank) (CA CIB) สถาบันการเงินชั้นนำจากฝรั่งเศส และธนาคารแลนด์เดสแบงก์ เฮสเสน-ทูริงเก้น จิโรเซนเทรล (Landesbank Hessen-Thuringen Girozentrale) (Helaba) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของเยอรมัน ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การบินไทย เพื่อจัดหาเครื่องบินแอร์บัส รุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ วงเงินรวม 137.8 ล้านยูโร แบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทย 64.5 ล้านยูโร ธนาคารแลนด์เดสแบงก์ เฮสเสน-ทูริงเก้น จิโรเซนเทรเล 41.6 ล้านยูโร และธนาคารเครดิต อะกริโคล คอปอร์เรท แอนด์ อินเวสเม้นท์ 31.7 ล้านยูโร
ปัจจุบันการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อจัดหาเครื่องบินในประเทศไทยมีข้อจำกัด เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องการจำนองเครื่องบิน ทำให้ไม่สามารถจดจำนองเครื่องบินในประเทศไทยได้ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนทางการเงินสกุลต่างประเทศ ทำให้ที่ผ่านมามีเพียงธนาคารต่างประเทศให้การสนับสนุนและมีรูปแบบการให้สินเชื่อโดยการจัดโครงสร้างการกู้เงินในต่างประเทศ ที่ผ่านมาในประเทศไทย จะใช้รูปแบบลีสซิ่งแบบทั่วไปสำหรับการจัดหาเครื่องบินขนาดเล็กหรือเครื่องบินส่วนบุคคล ในครั้งนี้ รูปแบบที่ธนาคารฯ ร่วมกับธนาคารต่างประเทศให้การสนับสนุนเป็นโครงสร้างที่เป็นสากล เป็นแนวทางปฏิบัติที่ธนาคารสากลทั่วโลกใช้ในการสนับสนุนทางการเงินเพื่อจัดหาเครื่องบินให้กับสายการบิน เป็นโครงสร้างที่ช่วยให้ต้นทุนทางการเงินของการบินไทยลดลง และให้ประโยชน์สูงสุดกับการบินไทย โดยมีการจัดตั้งบรรษัทเฉพาะกิจ (Special Purpose Company - SPC) ขึ้นที่ต่างประเทศ และมีการปล่อยกู้ที่บริษัทดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงของธนาคาร
นายวศิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกสิกรไทย นับเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกในการสนับสนุนทางการเงเพื่อจัดหาเครื่องบินให้กับการบินไทยในรูปแบบสากล ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการจัดทำโครงสร้างการเงินและรูปแบบการกู้เงิน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อีกทั้งการสนับสนุนทางการเงินในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของธนาคารพาณิชย์ไทยในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการจัดซื้อเครื่องบินของสายการบินในรูปแบบที่เป็นสากล ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีที่สุด ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ ได้ให้บริการ K-Value Chain Solution เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและคุ่ค้าของการบินไทย และเป็นการเพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับการบินไทย ความสำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของ K-Value Chain Solution ที่ดูแลทั้งระบบวงจรธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกรรมทางการเงินของการบินไทย
ข่าวเด่น