การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้สร้างโอกาสในการขยายการลงทุนให้กับนักลงทุนในประเทศที่จะขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น ซึ่งในเรื่องดังกล่าว น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็มองเห็นโอกาสเช่นกัน และ กบข.ก็อยู่ระหว่างการขอให้กระทรวงการคลังแก้กฎกระทรวง เพื่อขยายเพดานวงเงินการลงทุนต่างประเทศจาก 25% เป็น 40% หรือเพิ่มเป็น 150,000 ล้านบาท จากเงินลงทุนทั้งหมดที่มีมากกว่า 300,000 ล้านบาท
เนื่องจากขณะนี้การลงทุนในต่างประเทศใกล้เต็มเพดาน และเห็นว่าการออกไปลงทุนในต่างประเทศจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนโดยรวมให้ กบข.ได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ถึง 3 ปีข้างหน้ามีสินทรัพย์ในต่างประเทศที่น่าลงทุนและมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับกองทุน โดย กบข.สนใจลงทุนในตราสารหนี้ในเอเชียและตลาดเกิดใหม่และประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น มาเลเซีย จีน สิงคโปร์ เพราะให้ผลตอบแทนสูงมากกว่า 5% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนในตราสารหนี้ไทยซึ่งอยู่ในระดับ 3%
นอกจาก นี้ยังต้องการเพิ่มเงินลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศอีก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปและญี่ปุ่น เพราะราคาถูก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นับเป็นจังหวะดีในการเข้าไปลงทุน ขณะที่ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ก็มีทิศทางที่ดี โดยปี 2555 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนได้ไม่ต่ำกว่า 6-7%
ซึ่ง กบข.ตั้งเป้าสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยใกล้เคียงกับผลตอบแทนในอดีต 15 ปีย้อนหลัง ที่ระดับ 7.05% ต่อปี สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ประมาณ 3% และคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนปีนี้จะไม่ต่ำกว่าระดับ 7%
ส่วนการลงทุนในหุ้นก็ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง โดยหุ้นไทยในปี 2555 ที่ผ่านมา มีผลตอบแทน ประมาณ 35% ส่วนหุ้นต่างประเทศให้ผลตอบแทนประมาณ 10% ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของ กบข.ในปี 2555 อยู่ในระดับที่ดีน่าพอใจ
นอกจากนี้ กบข.ยังได้ปรับกรอบการลงทุน (SAA) ใหม่ เป็น 4 กลุ่ม ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ ปี2556 เป็นต้นไป และใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10-15 ปี เพื่อให้การลงทุนสอดรับกับวงจรของสภาพเศรษฐกิจ และสร้างความสมดุลของผลตอบแทนโดยรวม
1. กลุ่มรับมือการถดถอยของเศรษฐกิจ (ตราสารหนี้ภาครัฐไทยและต่างประเทศ) จะลดลงเหลือ 44% จากเดิมที่มีสัดส่วน 54%
2. กลุ่มรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ (ตลาดหุ้นไทย หุ้นโลก ตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ และการลงทุนทางเลือก เช่น นิติบุคคลเอกชนไทย และเอกชนโลก) เพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 24% จาก 21%
3. กลุ่มกระจายความเสี่ยง (ตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย เอกชนโลก ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่) เพิ่มเป็น 20% จากเดิม 19%
4. กลุ่มรับมือกับเงินเฟ้อ (อสังหาริมทรัพย์ไทยและต่างประเทศ สินค้าโภคภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐาน) เพิ่มเป็น 12% จากเดิม 7%
ข่าวเด่น