หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับมาชูกลยุทธ์ "Customer Centric" มาใช้กับตลาดรายย่อย โดยเน้นที่การแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก และนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาผสมผสานและตอบโจทย์ลูกค้า เห็นจากการเปิดตัว "SCB FIRST Privilege" ที่เป็นบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าในกลุ่ม Affluent ซึ่งเป็นระดับกลาง
ล่าสุด นาย ญนน์ โภคทรัพย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงบริการทางการเงินใหม่ "SCB PRIVATE Banking Club" ที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากหรือการลงทุนที่ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 7,000 ราย แต่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ที่ผ่านธนาคารราว 5-6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของสินทรัพย์ใต้การบริหารของแบงก์ที่มีประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท
สิ่งที่พิเศษสำหรับฐานสมาชิกกว่า 7,000 รายดังกล่าวที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในบริการพิเศษนี้ ธนาคารจะมีศูนย์ข้อมูลด้านการลงทุน (Investment Intelligence Center) ที่ช่วยบริหารและปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ลูกค้าต้องการ โดยใช้ธุรกิจในเครือไทยพาณิชย์เข้ามาตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหลักทรัพย์ กองทุน และประกันชีวิต เป็นต้น
ขณะเดียวกันจะมีทีมดูแลลูกค้าอีก 55 คนที่คอยประสานงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีทีมคอลเซ็นเตอร์ขึ้นมารองรับลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งในเฟสต่อไปจะขยายบริการให้กว้างขึ้นในลักษณะบริการเลขาส่วนตัวที่ช่วยจัดการเรื่องอื่นๆ เช่น จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก หรือจัดหาข้อมูลด้านอื่นๆ ให้แก่ลูกค้าด้วย
ด้านสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากบริการนี้ เร่ิมตั้งแต่การออกบัตรสมาชิกใบใหม่ที่เป็นบัตรเครดิตในตัวด้วย ร่วมกับ "VISA Infinite" ซึ่งเป็นบัตรระดับสูงสุดของวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล และการบินไทย ที่จะช่วยให้สมาชิกสะสมไมล์ได้เร็วที่สุดทั้งยังสามารถอัพเกรดตั๋วเครื่องบินได้ถึงชั้นเฟิร์สคลาส รวมถึงร่วมกับ "คิง พาวเวอร์" ที่ให้ส่วนลดในการช้อปปิ้งสูงสุดถึง 20% ตลอดจนสิทธิประโยชน์ด้านไลฟ์สไตล์อื่นๆ เช่น ออกกำลังกาย ทานอาหาร
"ลูกค้ากลุ่มนี้มีปริมาณการลงทุนกับธนาคารค่อนข้างสูง ซึ่งแต่ละปีก็จะมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10% ขึ้นอยู่กับรูปแบบการลงทุนและความเสี่ยงของลูกค้า และมั่นใจว่าด้วยโมเดลบริการทางการเงินในลักษณะนี้จะช่วยขยายสินทรัพย์ที่มาลงทุนกับธนาคารให้เพิ่มขึ้นในปีนี้ได้ 10-15% แน่นอน"
สิ่งที่เห็นชัดเจนในวิธีการบริหารด้วยกลยุทธ์นี้ก็คือ แบ่งที่กลุ่มลูกค้าเป็นหลัก และวิเคราะห์พฤติกรรมรวมถึงความต้องการทางการเงินของลูกค้าแต่ละกลุ่ม จากนั้นใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่ธนาคารมีอยู่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ ดังนั้น กลยุทธ์นี้จึงไม่ได้เน้นไปที่ผลิตภัณฑ์เพียงตัวใดตัวหนึ่ง แต่จะนำหลากหลายผลิตภัณฑ์เข้ามาผสมเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้ามากกว่า
โจทย์ที่ท้าทายต่อไปก็คือ หลังจากเปิดบริการใหม่สำหรับลูกค้ากลุ่ม Affluent และ Private ไปแล้ว ต่อไปบริการสำหรับลูกค้ากลุ่ม Mass จะออกมาเช่นไรต่อไป เพราะเป็นการเล่นกับกลุ่มลูกค้าที่มีจำนวนกว้างและหลากหลายมากที่สุด ทั้งในแง่สถานะตั้งแต่วัยเรียน เริ่มทำงาน เริ่มสร้างครอบครัว ไปจนถึงเตรียมเกษียณ และแง่ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันมาก ซึ่งมีมากกว่า 10 ล้านราย
คาดว่าจะได้เห็นบริการดังกล่าวภายในไตรมาส 2 ปีนี้ และจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เขย่าวงการตลาดการเงินรายย่อยที่น่าจับตาอีกเช่นกัน
ข่าวเด่น