แบงก์-นอนแบงก์
บสย.ปรับแผนวิสาหกิจ หนุนเอสเอ็มอี พร้อมเซ็นเอ็มโอยู 17 พันธมิตร ต้น ก.พ.นี้






บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรลุเป้าปรับแผนวิสาหกิจ รับแผนกระทรวงการคลัง หนุนเอสเอ็มอี วงเงินค้ำประกัน 240,000 ล้านบาท พร้อมเซ็นเอ็มโอยู 17 สถาบันการเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ ต้นกุมภาพันธ์นี้
  


นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน บสย. ณ สิ้น 31 ธันวาคม 2555 มียอดการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 82,000 ล้านบาท สูงจากเป้าหมายที่วางไว้ 50,000 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 3,285 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 2,975 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 309 ล้านบาท และมีสถานะหนี้ NPGs (ภาระค้ำประกันที่ไม่ก่อรายได้) 3.6%


และในส่วนที่นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ บสย. ดำเนินการทบทวนแผนวิสาหกิจปี 2556 ในแนวทางต่อไปนี้ คือ เพิ่มการค้ำประกันผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากขึ้น เพิ่มการประสานงานและร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้มากขึ้น เร่งประสานงานกับหน่วยงาน เพื่อสร้างการรับรู้สู่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี OTOP ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการกองทุนตั้งตัวได้ พร้อมกับเร่งดำเนินการให้ค้ำประกันกองทุนตั้งตัวได้โดยเร็วที่สุด โดยตั้งเป้าหมายลด NPGs อยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 3.5 และดำเนินการปรับปรุงสำนักงานสาขาและพิจารณาเพิ่มสาขา ศึกษาผลดีผลเสียของการเข้าไปค้ำประกันในธุรกิจลิสซิ่งและแฟคเทอร์ริ่ง เพื่อรองรับแผนงานของรัฐบาลและกระทรวงการคลังฯ ในโครงการความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโครงการกองทุนตั้งตัวได้ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติวงเงินค้ำประกันเงินกู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 240,000 ล้านบาทแล้วนั้น ทำให้ บสย. ได้ปรับแผนวิสาหกิจเพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ได้ปรับแผนวิสาหกิจเรียบร้อยแล้ว
    
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ บสย.ได้เร่งประสานการทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง ธกส., เอ็กซ์ซิม แบงก์, เอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อขยายหน่วยงานค้ำประกันผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจมากขึ้นและสนับสนุนกิจกรรมระหว่างกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ แนวทางการกระตุ้นการบริการค้ำประกันผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยยังได้เร่งประสานงานกับ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขยายการรับรู้บทบาทและภารกิจของ บสย. สู่กลุ่มผู้ประกอบดังกล่าว โดยขณะนี้ได้เตรียมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ PGS New / Start-up สำหรับค้ำประกัน สนับสนุนกองทุนตั้งตัวได้ พร้อมเร่งประสานงานกับสถาบันการเงิน เพื่อร่วมปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการกองทุนตั้งตัวได้

 

ด้าน นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า กองทุนตั้งตัวได้ เป็นกองทุนรูปแบบใหม่ของการสนับสนุนทุนแก่ผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการ เน้นไปที่กลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่เกิน 5 ปี และจะมีหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจจำนวนหนึ่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศและอยู่ตามสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ 56 แห่ง ที่จะคอยให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการให้รู้ว่าการประกอบธุรกิจต้องทำอย่างไร จัดระบบบัญชีอย่างไร ควรมองมุมไหนบ้าง

และจะมีหน่วยงานคอยดูแลใกล้ชิดกว่าการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รวมไปถึงสถาบันการศึกษาที่จะแนะนำว่า ควรจะทำอย่างไรที่จะสามารถบริหารจัดการได้ประหยัดที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ แทนที่จะมุ่งไปสู่การเป็นลูกจ้างหลังจบการศึกษา เพราะจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น การเริ่มต้นกิจการในช่วงอายุยังน้อย หากมีปัญหาทางธุรกิจ ก็จะเป็นมูลค่าไม่สูงนัก แต่จะเป็นการสั่งสมประสบการณ์ มีความแข็งแกร่ง สามารถเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ในวันข้างหน้า ผู้ประกอบธุรกิจได้ โดยผู้ร่วมกองทุนจะสามารถยื่นโครงการที่จะทำธุรกิจเพื่อขอกู้ยืมเงินจากธนาคาร โดยที่ธนาคารจะพิจารณาอนุมัติเงินให้ 2 ส่วน และรัฐจะช่วยเหลือเงินทุน 1 ส่วน และ บสย.จะเป็นผู้ค้ำประกันให้เต็ม 100%
ในส่วนของ Start-up ก็จะส่วนหนึ่งในโครงการกองทุนตั้งตัวได้แต่จะเป็นของผู้ที่ทำงานประจำไม่เกิน 3 ปี ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และผู้ที่ประกอบธุรกิจแบบจดทะเบียนไม่เกิน 3 ปี ที่อยากจะขยายธุรกิจและไปขอกู้กับธนาคาร โดยธนาคารจะพิจารณาให้กู้ 2 ส่วน แต่ในส่วนที่รัฐช่วยเหลือเงินทุน 1 ส่วนนั้น จะต้องใช้เงินทุนของตนเอง เพราะรัฐไม่มีเงินส่วนนี้ให้กับ ผู้ที่กู้ยืมแบบ Start-up แต่ บสย. ก็จะค้ำประกันให้ 100% เช่นเดียวกับกองทุนตั้งตัวได้ โดย บสย. คาดการณ์การจัดสรรงบในการค้ำประกันสินเชื่อโครงการกองทุนตั้งตัวได้และ Start-up ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท และไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ในปีแรก
    
นายสุรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้ว บสย. มีกำลังในการจัดสรรงบในการค้ำประกันในโครงการกองทุนตั้งตัวได้สูงสุด 5,000 ล้านบาท และสำหรับแผนการทำงานในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามที่กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้เร่งดำเนินการ ขณะนี้ บสย.มีความพร้อมเต็มที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กระทรวงการคลังได้วางไว้ โดยได้เตรียมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง บสย.กับ 17 สถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน), ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน), ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน), ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน และ ธนาคารแห่งประเทศจีน

การลงนามครั้งนี้ก็เพื่อให้ บสย. เข้าไปช่วยค้ำประกันเงินกู้เอสเอ็มอี วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อ วันที่ 8 มกราคม 2556 ส่วนโครงการความช่วยเหลือ กองทุนตั้งตัวได้ ก็จะได้เชิญสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มาชน), ธนาคารออมสิน, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาร่วมลงนามความร่วมมือเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ได้เรียนเชิญนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธานพิธีลงนาม
    
โดยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 10.00 น. จะจัดให้มีการลงนามความร่วมมืออย่างเป็นทางการ ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้



LastUpdate 23/01/2556 16:33:00 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 2:29 am