เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
อดีต 3 ขุนคลัง ชำแหละนโยบายประชานิยม



 

อดีต 3 รัฐมนตรีคลังของไทย กล่าวในการสัมมนา  "โจทย์ท้าทาย อนาคตเศรษฐกิจไทย" ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจไทย โดย  ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี  บอกว่า อนาคตเศรษฐกิจไทย มีความท้าทาย 2 ด้าน ได้แก่ การเติบโตในระยะต่อไป และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง   

โดยเศรษฐกิจไทยเริ่มมีปัญหาจากพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่มีจำกัด มีปัญหาแรงงานขาดแคลน การลงทุนและการส่งออกชะลอตัว ดังนั้นรัฐบาลต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย เป็น Trade Network  และต้องขยายการค้าในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะสินค้าไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน  รวมทั้งขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

 
ม.ร.ว.ปรีดียาธร  บอกด้วยว่า  การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้  ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรักษาวินัยการเงินการคลัง   รวมทั้งมีการหาเสียงโดยใช้นโยบายประชานิยม  ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการหาคะแนนนิยมด้วยวิธีการที่มักง่าย ขาดความละอายต่อบาป รียกได้ว่าขาด หิริโอตัปปะ ซึ่งสร้างความเสียหายต่องบประมาณของแผ่นดิน และจะทำให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศต้องติดกับดักประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุดของเศรษฐกิจ

สำหรับนโยบายรับจำนำข้าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เชื่อว่า หากรัฐบาลยังดำเนินโครงการนี้ต่อไป  หนี้สาธารณะ ณ สิ้น เดือนกันยายน ปี 2562 จะอยู่ที่ 10.3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 63.7% ของ GDP

 
ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า โจทย์ที่ท้าทายที่สุด  คือ ความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ที่ต้องเฝ้าระวังต่อปัจจัยเสี่ยงของเงินบาทที่แข็งค่าในระยะสั้น จากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าสู่เอเชีย ที่จะเป็นการสร้างภาวะฟองสบู่ได้ในอนาคต  ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

ส่วนระดับหนี้สาธารณะ  รัฐบาลต้องกำกับดูแลเพื่อไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอันตราย โดยต้องควบคุมนโบบายประชานิยม ดูแลการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ ควรมีการตีกรอบกติกาใหม่  เช่น แหล่งเงินทุนที่จะนำไปใช้ เพื่อหาเสียงในเชิงนโยบายประชานิยม ไม่ควรให้รัฐบาลใช้เงินจากหนี้สาธารณะ  
แต่ต้องกำหนดกติกาใหม่ โดยให้พรรคการเมืองต้องชี้แจงว่าจะหาเงินจากแหล่งใดและนำไปใช้อย่างไร, รัฐสภาจะต้องเข้ามากำกับดูแลด้านรายได้และควบคุมหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด และเมื่อเห็นว่ารัฐบาลไม่ทำตามกติกาก็จะต้องตรวจสอบรัฐบาลทันที

และโครงการต่างๆของรัฐบาล ทางกระทรวงการคลังจะต้องประเมินภาระของรัฐ ทั้งโครงการประชานิยม  การรับจำนำข้าว ต้องมีการตีราคาแบบ Mark to market รวมถึงรัฐบาลต้องเปิดเผยตัวเลขต่อประชาชนทุกไตรมาส

ส่วนในเรื่องของการคอร์รัปชั่น รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อความโปร่งใส โดยเปิดเผยผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลางที่เข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานราชการที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง และผู้ประกอบธุรกิจควรเปิดเผยข้อมูลค่าใช้จ่ายของบริษัทให้มากขึ้น

ขณะที่ นายกรณ์ จาติกวณิช  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง บอกว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง 7 เสาหลัก เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เช่น นโยบายการเงินการคลังที่มีเสถียรภาพ  //ระบบโครงสร้างตลาดเงินตลาดทุน // การแก้ปัญหาคอรัปชั่น และการพัฒนาระบบราชการ //การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน //การรักษาวินัยการเงินการคลัง  และรัฐบาลต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเอกชน
 

LastUpdate 24/01/2556 01:31:23 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 1:13 pm