บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "การประชุมเฟดครั้งแรกปี 2556 ...ยังไม่เปลี่ยนจุดยืนนโยบาย ก่อนรอยต่อเหตุการณ์สำคัญ"
ประเด็นสำคัญ
• คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยต่ำและมาตรการซื้อสินทรัพย์ไว้ต่อเนื่องในการประชุมวันที่ 29-30 มกราคม 2556 นี้
• ทั้งนี้ เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น แต่พัฒนาการของเศรษฐกิจยังคงเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป
• การขยายเพดานหนี้และมาตรการปรับลดรายจ่าย ยังเป็นประเด็นติดตามใกล้ชิด ที่อาจจะส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อันอาจมีผลต่อเนื่องมายังราคาสินทรัพย์และค่าเงินบาทยังมีความผันผวน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดน่าจะยังคงมาตรการซื้อสินทรัพย์ รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำในการประชุมครั้งแรกของปี 2556 ณ วันที่ 29-30 มกราคม 2556 นี้ โดยแม้ว่าพัฒนาการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2555 ที่ผ่านมา ยังคงบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ระดับการฟื้นตัวดังกล่าว ก็อาจยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้อัตราการจ้างงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระยะอันใกล้ ขณะที่ ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ตลาดแรงงานยังคงต้องใช้ระยะเวลากว่าจะทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา การจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 150,000 ตำแหน่ง ขณะที่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ ดังจะเห็นได้จาก ยอดขออนุญาตสร้างบ้านใหม่ (Housing Starts) ในเดือนธันวาคม2555 เพิ่มขึ้น 0.95 ล้านหน่วยโดยเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี และยอดการจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับใกล้ 5 ล้านหลัง/เดือน เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเทียบกับช่วงต้นปีที่ระดับ 4.5 ล้านหลัง/เดือน อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบัน อาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยให้อัตราการว่างงาน ปรับลดลงจากระดับ 7.8% ในเดือนธันวาคม 2555 สู่ระดับ 6.5% ตามเงื่อนไขที่เฟดส่งสัญญาณว่าอาจจะสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงประมาณ
อย่างไรก็ตาม เฟดคงติดตามการขยายเพดานหนี้และการปรับลดรายจ่าย ซึ่งต้องรอความชัดเจนในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า
แม้ข้อตกลงในการบรรเทาผลกระทบจากประเด็นหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) หลังสภาคองเกรสผ่านกฎหมายเมื่อต้นปี 2556 เพื่อเลื่อนการเริ่มต้นมาตรการปรับลดรายจ่ายส่วนใหญ่ (Sequestration) ของภาครัฐออกไปจากช่วงต้นปี 2556 และการที่สภาผู้แทนฯ เพิ่งผ่านกฎหมายเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 เพื่อขยายเพดานหนี้ชั่วคราวออกไปอีกนั้น คาดว่าจะช่วยลดผลกระทบของปัญหา Fiscal Cliff ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ กว่า 2 ใน 3 ไปได้ (โดยผลกระทบ 1 ใน 3 นั้น ส่วนใหญ่มาจากการบังคับใช้เฉพาะมาตรการการปรับขึ้นภาษีคนรวย และปล่อยให้การลดภาษีเงินเดือน (Payroll Tax) 2% หมดอายุลง) ซึ่งช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ออกไป ทั้งๆ ที่หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ได้พุ่งชนเพดานที่ 16.39 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2555 แต่ก็คงต้องยอมรับว่า ทางออกดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 และพฤษภาคม 2556 สหรัฐฯ ก็จะถึงกำหนดเส้นตายที่ต้องสรุปรายละเอียดของแผนการปรับลดรายจ่ายสำหรับอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างจริงจัง และเส้นตายของปัญหาการชนเพดานหนี้ของจริงในที่สุด ดังนั้น ทั้งสองเหตุการณ์ จึงยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เฟดคงให้น้ำหนัก เพราะย่อมจะมีผลกระทบต่อแรงส่งของการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไปอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
หากกลับมาที่มุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยต่อทั้งสองประเด็นข้างต้น โดยไล่เรียงตามลำดับเหตุการณ์นั้น คาดว่า
• ประเด็นการปรับลดรายจ่าย...คงเกิดขึ้นในรายการที่ส่งผลกระทบจำกัดต่อเศรษฐกิจ โดยภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ทั้งสองพรรคการเมืองต้องได้ข้อสรุปในรายละเอียดของแผนการปรับลดรายจ่าย (Sequestration) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินทางการคลังของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่ง รายละเอียดส่วนใหญ่ของการปรับลดงบประมาณ หรือเกือบครึ่งหนึ่งจะอยู่ในการปรับลดงบประมาณทางการทหาร ที่น่าจะกระทบภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขอบเขตที่จำกัด ในขณะที่ ทิศทางงบประมาณในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคของประชาชน ซึ่งน่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างกว่า อาทิ รายจ่ายด้านสาธารณะสุขนั้น น่าจะเห็นการปรับลดงบประมาณที่ไม่มากนัก
• ประเด็นเพดานหนี้...น่าจะเห็นทางออกที่ประนีประนอม เพื่อนำพารัฐบาลสหรัฐฯ ออกจากความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ โดยแม้ว่าการลงคะแนนเสียงโดยสภาล่าง (ที่ครองเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกัน) ในการผ่านกฎหมายเพื่อยืดกำหนดเส้นตายเพดานหนี้ออกไปอีกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 นั้น จะยังคงต้องรอการลงมติจากสภาบนที่ครองเสียงข้างมากโดยพรรคเดโมแครต แต่ก็เชื่อว่าน่าจะไม่มีปัญหา นั่นหมายความว่า จุดสนใจจะพุ่งไปที่วิธีการแก้ปัญหาเพดานหนี้ที่ผูกติดกับการเจรจาแผนงบประมาณฉบับใหม่ให้บรรลุข้อสรุป ภายในวันที่ 27 มีนาคม 2556 อันเป็นกำหนดเวลาที่กฎหมายงบประมาณชั่วคราวจะหมดอายุลง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่คงจะเผชิญแรงกดดันให้ต้องหาทางออกที่ประนีประนอม เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น ก็จะต้องแลกด้วยผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่มหาศาลจากปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณ จากการที่หน่วยราชการบางแห่งอาจต้องปิดตัวลง รวมทั้งจากโอกาสที่สหรัฐฯ อาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ย้อนรอยเหตุการณ์เมื่อสองปีก่อนที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard &Poor’s ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลงจากระดับ AAA ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบในลักษณะลูกโซ่มายังความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในที่สุด
พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า คงจะเป็นปัจจัยหลักที่เฟดใช้ในการติดตามเพื่อปรับเปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายในระยะที่เหลือของปีนี้
แม้ท้ายที่สุดแล้ว สหรัฐฯ ถูกคาดหมายว่าน่าจะบรรลุทางออกที่ประนีประนอมสำหรับปัญหา Fiscal Cliff และเพดานหนี้ ซึ่งน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดการเงินโลก แต่การปรับลดรายจ่ายทางการคลัง คงจะมีผลในการชะลอแรงส่งทางเศรษฐกิจ ดังนั้น โอกาสที่เฟดจะปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงจากระดับปัจจุบันที่ 85 พันล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน จึงน่าจะอยู่ในระดับต่ำในการประชุมหลายเดือนข้างหน้านี้ โดยเฉพาะในภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ขณะที่ การตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ น่าจะช่วยลดภาระในการจ่ายอัตราดอกเบี้ยของรัฐบาลและลดแรงกดดันจากการเร่งตัวของระดับหนี้สหรัฐฯ ลงได้ส่วนหนึ่ง
จุดยืนเชิงนโยบายในลักษณะดังกล่าวของเฟด คงจะปรากฏขึ้นต่อเนื่อง จนกว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจจริงและตลาดแรงงานจะมีสัญญาณบวกชัดเจนและมีเสถียรภาพมากขึ้น เข้าใกล้ภาพเป้าหมายของเฟด (อาทิ อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องสู่ต่ำกว่า 7.0% หรือเข้าหาระดับ 6.5% มากขึ้น หลังเฟดเคยประมาณอัตราการว่างงานว่าน่าจะลดลงมาอยู่ในระดับ 6.5% ใน ณ ปลายปี 2558 และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2556 ไว้ที่ 2.3 - 3.0%) ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจริง ก็อาจทำให้เฟดกลับมาพิจารณาทางเลือกในการปรับลดขนาดการรับซื้อสินทรัพย์ได้ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อันอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2556 นี้เป็นอย่างเร็ว
สำหรับประเทศไทย ท่าทีของเฟดอาจส่งผลต่อการไหลเข้า-ออกของกระแสเงินทุน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
กลับมาที่ประเทศไทย การที่เฟดยังคงนโยบายการเงินด้วยท่าทีที่ผ่อนคลายอย่างมากดังกล่าว คงจะช่วยทำให้ ธปท.มีความยืดหยุ่นต่อการพิจารณาทิศทางนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงต้องการนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ เพื่อประคองให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศมีความต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ และแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่ยังมีระดับที่ไม่น่ากังวล แต่คงต้องยอมรับว่า ภาพการเดินหน้าการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณของธนาคารแกนหลักของโลกดังกล่าว รวมถึงเฟด คงจะหนุนให้เงินบาทยังคงระดับการเคลื่อนไหวที่แข็งค่าต่อเนื่องในระยะใกล้ ตามกระแสเงินทุนไหลเข้า ซึ่งทำให้ ธปท.คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับผู้ส่งออกและผู้ที่มีรายรับสกุลเงินดอลลาร์ฯ อื่นๆ ที่คงต้องพิจารณาซื้อผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า
กระนั้นก็ดี ประเด็นติดตามสำคัญเมื่อเข้าสู่ช่วงกลาง-ปลายปี คงอยู่ที่พัฒนาการเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังผ่านรอยต่อของการตัดสินใจทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหา Fiscal Cliff และเพดานหนี้สาธารณะ รวมถึงเศรษฐกิจแกนหลักอื่นๆ ของโลก ซึ่งในกรณีที่มีบทสรุปออกมาในเชิงบวก ก็คงทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถประคองแรงส่งของการฟื้นตัวไว้ได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น (แม้อาจยังต่ำกว่าระดับอัตราการเติบโตศักยภาพก็ตาม) อันอาจกระตุ้นให้มีกระแสเงินไหลกลับสู่ตลาดสหรัฐฯ และความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ มากขึ้น ส่งผลกระทบตามมาต่อราคาสินทรัพย์ในเอเชียและไทยให้เข้าสู่จังหวะของการปรับฐาน รวมถึงมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้างในบางจังหวะเช่นกัน แต่หากสถานการณ์ยังคงปะปนด้วยภาพลบ ก็ย่อมจะให้ผลลัพธ์ต่อค่าเงินและตลาดการเงินในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องตั้งรับกับความผันผวนของค่าเงินและราคาสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีโอกาสจะปรากฏขึ้นต่อเนื่อง
ข่าวเด่น