ได้กลิ่นหอมกรุ่นฟุ้งมาจากห้องเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1/3โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ถ.พระราม 4 ซึ่งกำลังจัดแสดงนิทรรศการ Project Approach เรื่อง “ขนมปัง” อยู่ ทำให้เราอดเข้าไปแวะชมไม่ได้ เด็กๆ และคุณครูช่วยกันเนรมิตให้กลายเป็นห้องเรียนเบเกอรี่แสนน่ารัก เต็มไปด้วยขนมปังหน้าตาน่ารับประทานวางทุกมุมห้อง และนี่จึงเป็นที่มาในการนำเสนอผลงานการค้นคว้าวิจัยของเหล่าเชฟตัวน้อย วัย 3 ขวบกว่าของเราในวันนี้ ที่ได้ทำการเรียนรู้ผ่าน การฟัง การสัมภาษณ์ การซักถาม การเล่นบทบาทสมมุติ เล่นเกม รวมทั้งการสืบค้นจากหนังสือ และค้นคว้าข้อมูลมาจากบ้าน
คุณครูเบญญาภา ศิริพันธุ์ หรือครูเติ้ล คุณครูประจำชั้นอ.1/3 เล่าให้เราฟังว่า การเรียนรู้เริ่มจากในสัปดาห์ที่ 1 คุณครูได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ ใช้หลักรัฐศาสตร์มาช่วยกันโหวตเรื่องที่ตัวเองสนใจมากที่สุด จนได้มติประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่ว่า อยากเรียนรู้เรื่อง ขนมปัง มากที่สุดจำนวน 12 เสียง ซึ่งเด็กๆ ให้เหตุผลว่าเพราะต่างก็เคยทานขนมปัง และรู้ว่ามีรสชาติอร่อยมาก โดยเรียนรู้ในขั้นต่อไป ครูเปิดโอกาสให้เด็กๆได้พูดคุยและทำกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความรู้เดิมเกี่ยวกับขนมปัง อาทิ การปั้นดินน้ำมัน วาดภาพ ประดิษฐ์เศษวัสดุจากความคิดของตนเองเกี่ยวกับขนมปัง และร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าอยากรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับขนมปัง ต่อจากนั้น ช่วยกันสืบค้นหาความรู้จากการร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้เกี่ยวกับขนมปัง โดยน้องคัลเลอร์ ด.ญ. ภูริชญา โชคเศรษฐกิจ เล่าว่าตนเองได้ร่วมด้วยช่วยกันกับคุณแม่ หาความรู้เรื่องขนมปังจากอินเตอร์เน็ตได้ความว่า“ขนมปังตรงขอบจะมีสีน้ำตาล ข้างในมีสีขาวๆ และนิ่มๆ มีกลิ่นหอม มีหลายรูปทรงทั้งวงกลม สี่เหลี่ยม และยาวๆ เอามาฉีกเป็นชิ้นเล็กๆได้ และสามารถนำมารับประทานได้ขนมปังมี 4 ประเภท คือ ขนมปังปอนด์ ขนมปังผิวแข็งขนมปังซอฟต์โรล และขนมปังหวาน ทุกชนิดมีส่วนผสมของแป้งสาลี ยีสต์และน้ำ” นอกจากนี้เด็กๆ ทั้งห้องได้ช่วยกันทำขนมปัง เริ่มตั้งแต่ช่วยกันตวงแป้ง ตวงส่วนผสมต่างๆ โดยมีครูคอยดูแลและให้คำแนะนำ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าตื่นเต้นและสนุกสนานมากกับการทดลองทำขนมปังครั้งแรกในชีวิต โดยอุปสรรคที่เด็ก ๆ พบคือ ขนมปังอบออกมาแล้วแฟบ ไม่ฟู ดูไม่น่าทาน แถมแข็งโป๊กอีก เพราะช่วยกันตวงส่วนผสมหลายมือไปหน่อย ส่วนผสมเลยขาด ๆ เกินๆ และเป็นเพราะใส่ผงฟูน้อยเกินไปนั่นเอง แต่...ผลงานครั้งแรกก็หมดเกลี้ยง ถึงจะแข็งและแฟบ มันก็อร่อยสำหรับหนู ๆ เขาล่ะค่ะ
น้องแคลร์ ด.ญ. สาริศา ศรีวราธนบูลย์ ได้อาสาพาเราไปทดสอบการทำงานของยีสต์ โดยใส่ยีสต์ 1 ช้อนต่อน้ำตาลทราย2 ช้อน แล้วทิ้งไว้ 45 นาที นอกจากนี้น้องแคลร์ยังบอกอีกว่า“ยีสต์ที่ใช้ทำขนมปังมีสีน้ำตาล โดยจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นคาร์บอนไดออกไซค์ เป็นตัวช่วยทำให้ขนมปังฟูขึ้นมาและหากใส่เยอะขนมปังจะนิ่ม” เห็นไหมว่าหนูได้รับการสอดแทรกวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าไปด้วยโดยไม่รู้ตัว
และเมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของคนไทยมีมาตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี คุณครูได้นำกระทงที่ทำมาจากขนมปังมาให้เด็กๆได้สังเกตรูปร่าง ลักษณะของกระทง และทดลองประดิษฐ์กระทงจากแป้งขนมปังตามใจชอบ แล้วนำไปทดลองลอยที่สระน้ำจำลองอีกด้วย
หลังจากนั้นถึงคิวสาวน้อยน่ารัก น้องมินเม ด.ญ.วินิธา ปัญจมะวัต ได้เล่าให้เราฟังอย่างตื่นเต้นว่า “คุณครูได้พาหนูและเพื่อนๆ ไปทัศนศึกษาที่โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต มีเชฟโต้ง หรือ อาจารย์นคร แซ่สี มาสาธิตการทำขนมปังลูกเกดให้พวกเราดูด้วยค่ะ วันที่ไปหนูรู้สึกตื่นเต้นมาก หนูมาโรงเรียนแต่เช้าเลย พอไปถึงเชฟโต้งก็ใจดีมากๆค่ะ ” ในการไปครั้งนี้ เด็กๆได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ตรงเรื่อง “ขนมปัง” ทั้งในเรื่องราวเกี่ยวกับขนมปังชนิดต่างๆ ขั้นตอนการผลิต วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ และในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ซึ่งเป็น“วันพ่อแห่งชาติ” เด็กๆ ได้มีโอกาสประดิษฐ์การ์ดวันพ่อ และได้ทำขนมปังแซนวิชเพื่อนำกลับไปเป็นของขวัญในวันพ่อ ก่อนที่เด็กๆจะได้ทำขนมปังแซนวิช เด็กๆได้ออกแบบขนมปังแซนวิช ก่อน เพื่อฝึกทักษะทางความคิดในด้านต่างๆ เช่นทักษะความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบและทำตามแบบที่ออกไว้ ทักษะความคิดวิเคราะห์ในการเลือกสิ่งที่จะนำมาประกอบในการทำแซนวิช อีกด้วย ซึ่งก็สร้างความประทับใจให้แก่คุณพ่อของทุกคนกันถ้วนหน้า
และในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนรู้แบบโครงงานเด็กๆ ได้ร่วมเล่นเกมจับคู่ภาพเหมือนของขนมปังชนิดต่างๆ เกมภาพตัดต่อเกี่ยวกับขนมปัง ทดลองวิทยาศาสตร์สังเกตการเปลี่ยนแปลงของขนมปังเมื่อโดนความร้อน และขนมปังที่นำไปตากแดดว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งขนมปังที่หมดอายุแล้วว่าเป็นอย่างไรและจำลองสิ่งที่เด็กๆได้เรียนรู้ตามที่เด็กสนใจ ซึ่งในที่นี้เด็กๆสนใจที่จะจำลองเตาอบขนมปังที่ได้พบเห็นตอนไปทัศนศึกษาโรงเรียนการอาหารนานาสวนดุสิต ซึ่งเด็กๆเริ่มต้นกระบวนการโดยช่วยกันคิดว่าจะนำวัสดุอะไรมาทำ และจะทำอย่างไร และลงมือปฎิบัติ เมื่อสิ้นสุดทุกกระบวนการการเรียนรู้แล้วครูและเด็กๆจะช่วยกันสรุปผลการสืบค้น ลำดับเหตุการณ์ วางแผนการจัดแสดงผลงานตลอดจนจัดทำบัตรเชิญเพื่อเชิญคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้แบบโครงงาน Project Approach นั้นทำให้เด็กได้หัดเรียนรู้ ศึกษาค้นคว้า วิจัย เป็นการเรียนรู้ที่ฝึกให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมภายในครอบครัว ใช้เวลาว่างระหว่างพ่อ แม่ ลูกร่วมกัน สร้างความรัก ความอบอุ่น เสริมสร้างสายใยระหว่างครอบครัวควบคู่ไปด้วย ลองไปชมผลงานจิ๋วแต่แจ๋วของน้องๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://www.kukai.ac.th/
ข่าวเด่น