ปี2556 นับเป็นช่วงที่โบรกเกอร์หลายแห่งเคลื่อนไหว ปรับตัวทางธุรกิจขนานใหญ่ ทั้งรวมธุรกิจ ปรับโครงสร้าง ฯลฯเพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงการลงทุน ไม่เว้นแม้แต่ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ ที่ลุกขึ้นมาเปิดศักราชใหม่ด้วยการประกาศการเปลีี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อยกระดับชั้นขึ่นสู่ "พรีเมี่ยม โบรกเกอร์"แบบเต็มสูตร!!!
"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ได้แถลงถึงการขับเคลื่อนธุรกิจในปี2556นี้ว่า บริษัทมีแผนที่จะสร้างจุดต่างด้านการบริการให้กับลูกค้า โดยเฉพาะบทวิเคราะห์และคำแนะนำด้านการลงทุนที่ตอบสนองตรงกับลูกค้าทุกกลุ่ม ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับดอยซ์แบงก์ ตั้งบริษัทใหม่ คือ“บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน(บลป.) ดอยซ์ ทิสโก้" ด้วยการร่วมทุน(Joint Venture)โดยบล. ทิสโก้ จะถือหุ้นในสัดส่วน 51% ขณะที่ดอยซ์แบงก์จะถือส่วนที่เหลือ49%
ซึ่งบลป.ดังกล่าว จะทำหน้าที่ให้บริการด้านงานวิจัยและที่ปรึกษาลงทุนให้แก่ลูกค้าสถาบันทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะ ด้วยการผสานความร่วมมือระหว่าง2บริษัท คือ ดอยซ์จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลการลงทุนสำคัญทั่วโลก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนบล.ทิสโก้ จะให้ข้อมูลการลงทุนในประเทศไทย ขณะที่บลป.จะนำข้อมูลจากทั้ง2บริษัทมารวมกันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อส่งต่อให้ลูกค้าอีกครั้ง
"ผมจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในบลป.นี้ และเชื่อว่าการร่วมมือกับดอยซ์ จะช่วยให้้เราติด TOP 3 ด้านมาร์เก็ตแชร์ของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศได้ในปี2557 จากปัจจุบันที่อยู่ประมาณTOP5ได้ เพราะบลป.ของเรามีความโดดเด่นตรงที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงบริษัทรวบรวมข้อมูลและส่งให้ลูกค้าเท่านั้น แต่จะวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดให้นักลงทุนได้ข้อมูลที่ดีสำหรับตัดสินใจลงทุนมากขึ้นด้วย"เขากล่าว
อย่างไรก็ตามในส่วนของลูกค้ารายย่อย บริษัทจะมีทีมงานออกบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้ข้อมูลเช่นเดิม เพียงแต่จะมีลักษณะเจาะลึก และตรงกับความต้องการของนักลงทุนมากขึ้น เพราะเมื่อได้ตั้งบลป.แล้ว จะช่วยให้สามารถแบ่งส่วนงานดูแลนักลงทุนสถาบัน และรายย่อยชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้จากการปรับวิธีดำเนินธุรกิจดังกล่าว"ไพบูลย์"กล่าวว่า ในปี 56 มาร์เก็ตแชร์ของบล.ทิสโก้จึงน่าจะอยู่ที่ราว 3-4% จากปี 55 อยู่ที่ 3%
ประกอบกับประเมินว่าอุตสาหกรรมการลงทุนปีนี้จะยังมีแนวโน้มที่ดี โดยจะเห็นได้จากการที่ดอยช์แบงก์มองเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ที่ 1,650 จุด กำไรต่อหุ้น(EPS) โตกว่า 20% ขณะที่ค่า Forword PE หุ้นไทยอยู่ที่ 12-13 เท่า ยังต่ำกว่าอาเซียนที่เฉลี่ย 15 เท่า ส่วนในกรณีที่ดัชนีปรับตัวลดลงคาดว่าจะไม่ดิ่งแรงมาก เพราะหุ้นขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อตลาด เช่นกลุ่มพลังงานยังมี PE ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณ 8 เท่า จึงไม่น่าจะปรับลดลงอีก
"ต่างชาติยังคงมองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่น่าลงทุน และยังโตได้ต่อเนื่องใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นเม็ดเงินลงทุนก็น่าจะยังไหลเข้ามาอีก ซึ่งเราก็พร้อมให้บริการทั้งสถาบันต่างชาติ สถาบันไทย รวมถึงรายย่อยครบทุกกลุ่ม" นายไพบูลย์ กล่าว
คงต้องลุ้นศักราชใหม่นี้กับ"บล.ทิสโก้"ต่อว่า การก้าวขึ้นสู่"พรีเมี่ยม โบรกเกอร์"เต็มขั้น จะสำเร็จตามที่หวังไว้หรือไม่!
ข่าวเด่น