สรุปการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา: Bisnews และ DailyFX.com
สรุปการเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ราคาทองคำในช่วงสัปดาห์นี้ได้มีการแกว่งตัวจากปัจจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากมีการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มต้นจากตัวเลขประมาณการณ์ครั้งแรกของ GDP ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์ทั้งหลายต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯน่าจะขยายตัวมากขึ้น แต่ผลกลับกลายเป็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้หดตัวลง 0.1% ทำให้ราคาทองคำได้ตอบสนองข่าวอย่างทันทีทันใด โดยขึ้นไปทดสอบแนวต้านบริเวณ 1,684 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะขยับลงมาที่บริเวณ 1,660 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อรอตัวเลขสำคัญในตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นในปลายสัปดาห์ นั่นคือ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม และอัตราการว่างงาน ซึ่งผลปรากฎว่า อัตราการว่างงานของสหรัฐฯได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งมาที่ระดับ 7.9% ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมได้ออกมาน้อยกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้มาอยู่ที่ 157,000 ตำแหน่ง ทำให้ราคาทองคำกลับมาอยู่ในแดนบวกอีกครั้ง แต่เมื่อราคาไม่สามารถผ่านแนวต้าน 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้ ก็ทำให้ราคาลงมาปิดตลาดที่บริเวณ 1,665 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 6.59 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ประเมินสถานการณ์และทิศทางราคาทองคำในสัปดาห์นี้
ราคาทองคำ : แนวรับ 1,640(23,200) 1,625(22,900) 1,600(22,600)
แนวต้าน 1,690(23,800) 1,720(24,200) 1,750(24,500)
ราคาทองคำในช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางสหรัฐฯค่อนข้างมาก ซึ่งในสัปดาห์นี้ทางสหรัฐฯก็มีการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเฉพาะตัวเลขในตลาดแรงงานอย่างคือ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานประจำสัปดาห์ เนื่องจากว่าในปลายสัปดาห์ที่แล้ว ราคาทองคำได้ปรับขึ้นอย่างรุนแรงจากการที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯได้ปรับตัวแย่ลง ซึ่งหากตัวเลขแรงงานประจำสัปดาห์นี้ได้ปรับตัวมาในทิศทางเดียวกัน ก็จะส่งผลบวกต่อราคาทองคำได้ แต่หากมาในทางตรงกันข้าม ราคาทองคำก็พร้อมปรับลงเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีตัวเลขสำคัญอื่นๆอีก เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM Non-Manufacturing PMI), และตัวเลขยอดดุลการค้า
ขณะที่ปัจจัยทางยูโรโซนในสัปดาห์นี้ ก็จะมีการประชุมนโยบายการเงินประจำเดือนกุมภาพันธ์ด้วย ซึ่งผลจากการประชุมในเดือนมกราคมที่ผ่านมาทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีมติที่จะคงอัตราดอกเบี้ย Minimum Bid Rate ไว้ที่ 0.75% ท่ามกลางเสียงที่มีการวิพากษ์ว่าควรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง ดังนั้นแล้วนักลงทุนอาจจำเป็นที่จะต้องติดตามประเด็นนี้ว่าจะเป็นเช่นไร ทางธนาคารกลางยุโรปจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลงหรือไม่ ซึ่งหากมีมติในการปรับอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะส่งผลต่อค่าเงินยูโรได้มีการอ่อนค่าลง และราคาทองคำอาจได้รับผลกระทบในด้านลบได้
นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้จะเป็นช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งนักลงทุนอาจจับตามองว่าอุปสงค์ของชาวจีนในการซื้อทองเพื่อเป็นของกำนัลให้ลูกหลานนั้น จะเป็นแรงผลักดันสำหรับราคาทองได้หรือไม่ด้วย
กลยุทธ์การลงทุน ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวในกรอบราคาระหว่าง 1,640 - 1,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อ-ขาย เก็งกำไรระยะสั้นในกรอบราคาไปก่อน จนกว่าราคาจะสามารถยืนเหนืออยู่บริเวณ 1,690-1,695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างมั่นคง นักลงทุนจึงจะเปลี่ยนกลยุทธ์มาซื้อตามแนวโน้มได้ (follow buy) ได้ โดยแนวรับประจำสัปดาห์ได้แก่ 1,640 - 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (23,200-22,600 บาทต่อบาททองคำ) และแนวต้านที่ 1,690 - 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (23,800-24,500 บาทต่อบาททองคำ)
การประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า
ข่าวเด่น