บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ประกาศความพร้อมให้ความช่วยเหลือค้ำประกันเงินกู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตามนโยบายรัฐบาล วันนี้ (6ก.พ.56) โดยบสย.ร่วมกับ 18 สถาบันการเงินภาครัฐ-เอกชน ภายใต้โครงการค้ำประกันเงินกู้ของบสย. 2 ประเภท โครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะ 5 (PGS5) วงเงินค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันเงินกู้ สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) วงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท
โดยการลงนามนวันนี้ได้รับเกียรติจาก นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง พร้อมด้วยนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บสย. นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ รักษาการ ผู้จัดการทั่วไป บสย. พร้อมด้วยผู้บริหารและตัวแทนสถาบันการเงิน 18 สถาบัน
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ กล่าวว่า ในครั้งนี้ถือเป็นวงเงินค้ำประกันสูงสุดในรอบ 21 ปี ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้บสย.ในการดำเนินการ สะท้อนถึงความห่วงใยของรัฐบาลและกระทรวงการคลังที่มีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยการอนุมัติวงเงินค้ำประกันดังกล่าวมอบหมายให้ บสย.ค้ำประกันเงินกู้ สำหรับผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการชำระหนี้แต่ขาดหลักประกัน ผ่านโครงการ PGS5 และ โครงการค้ำประกันเงินกู้ สำหรับผู้ประกอบการใหม่
“ความร่วมมือครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจของตัวเอง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีระยะเวลาในการขอค้ำประกันเงินกู้ถึง 3 ปี (2556-2558) ขณะเดียวกัน บสย.ได้ขยายการค้ำประกันวงเงินกู้แต่ละรายไม่เกิน 7ปี” นายสุรชัย กล่าว
จุดเด่นของ โครงการ PGS5 นอกจากการเสริมสภาพคล่องทางการเงินแล้ว ยังเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ด้านการลงทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)อีกด้วย
สำหรับโครงการค้ำประกันเงินกู้ เพื่อผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) วงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท จะรองรับแผนสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของรัฐบาลภายใต้โครงการ “กองทุนตั้งตัวได้” โดยผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ารับการอบรมที่ผ่านการประเมินและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารจะได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากธนาคาร โดยมี บสย.ค้ำประกัน และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนตั้งตัวได้เพิ่มเติม
นายสุรชัย กล่าวว่า ทั้ง 2 โครงการนี้ กำหนดระยะเวลาการค้ำประกัน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2556-2558 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจใช้บริการค้ำประกันเงินกู้จาก บสย.ผ่านสถาบันการเงินทั้ง 18 สถาบัน เป็นจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าวงเงินค้ำประกันที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจะเต็มวงเงินก่อนปิดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558
สำหรับรายชื่อกลุ่มพันธมิตร 18 สถาบันการเงิน ประกอบด้วย1.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 4.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 5.ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 6.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) 7.ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 8.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 9.ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 10.ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) 11.ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) 12.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) 13.ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)14.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 15.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 16. ธนาคารออมสิน 17.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 18.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ข่าวเด่น