ถ้าพูดถึงรายการประกวดร้องเพลงแล้วตัดสินด้วยการให้คนดูทางบ้านโหวดนั้น ต้องนับว่ามีหลายรายการด้วยกันที่แพร่ภาพในประเทศไทย ซึ่งที่กำลังออกอากาศอยู่ ณ เวลานี้คือ The Star ค้นฟ้าคว้าดาว ปีที่ 9 โดยในตอนที่แพร่ภาพอยู่ขณะนี้ ก็ได้ตัวแทนภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน แล้ว เหลือภาคเหนือ ก่อนที่จะคัดจนได้ 8 คนสุดท้าย ซึ่งในขณะที่ชาวไทยกำลังสนุกสนานกับ The Star ประเทศอย่างอัฟกานิสถานก็มีรายการที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันอย่าง Afghan Star ซึ่งให้ความบันเทิงกับชาวอัฟกานิสถาน และตอนนี้ก็ดำเนินมาถึงซีซั่น 8 แล้ว แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือในประเทศอัฟกานิสถาน ผู้หญิงถูกกดขี่จนแทบจะไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในการเดินตามความฝันด้วยการเข้าร่วมรายการ Afghan Star

ตามกฎกติกาของรายการผู้เข้าแข่งขันจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้ "ลาติฟา อาซีซี" สาวน้อยวัย17 ปี ก็เลือกที่จะสมัครเข้าแข่งขันในซีซั่นที่ 8 เพราะเธออยากจะเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง และเธอก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้เข้ารอบ13 คนสุดท้าย ( มีผู้หญิงแค่สองคน ) และตอนนี้เธอก็ยังอยู่ในเส้นทางลุ้นแชมป์ด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าร่วมรายการ ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไป เพราะเธอถูกต่อต้านจากสังคมบางส่วน ซึ่งไม่ใช่เพราะเธอทำอะไรผิดหรือเธอทำอะไรไม่ดี แต่เหตุผลเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิงและร่วมรายการนี้ซึ่งเป็นรายการบันเทิง
“ ไม่ว่าฉันจะชนะหรือแพ้ในการแข่งขัน Afghan Star ตัวของฉันและครอบครัวก็ไม่สามารถกลับบ้านที่อยู่ที่ มาซาร์ อี ชาริฟ ได้อีกต่อไปค่ะ เพราะที่นั่นอันตรายเกินไป” อาซีซี กล่าว
อาซีซี ต้องเดินทางมาจาก มาซาร์ อี ชาริฟ มาอยู่ที่กรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน หลังจากที่รายการซีซั่นล่าสุดเริ่มแพร่ภาพในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และเมื่อคนในชุมชนรวมถึงคนในโรงเรียที่เธอศึกษาอยู่เห็นเธอในรายการโทรทัศน์ สิ่งที่ตามมาคือความโกรธแค้นของคนเหล่านั้น อ้างว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงที่จะร้องเพลงและปรากฎตัวในรายการโทรทัศน์ และร้ายแรงถึงขั้นถูกขู่ฆ่า
“ วันหนึ่งฉันไปโรงเรียนเพื่อไปสอบปลายภาค โดยวันนั้นเป็นวันหลังจากรายการออกอากาศในตอนแรกๆที่ผู้แข่งขันมาออดิชั่น ปรากฎว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนของฉันตะโกนใส่และดึงผมฉัน ฉันได้แต่วิ่งหนีและร้องไห้ ไม่มีใครช่วยฉันเลย แม้แต่ครู”
อาซีซี เล่าอีกว่าท้ายที่สุดเธอถูกไล่ออกจากโรงเรียน แต่เมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อไป โมฮัมหมัด คาลานเดอรี ครูใหญ่ของโรงเรียนก็ปฏิเสธ พร้อมบอกว่า อาซีซี สามารถกลับมาเรียนได้เสมอ
สำหรับกรณีของ อาซีซี ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้หญิงที่เข้าสู่วงการบันเทิงถูกคุกคาม ก่อนหน้านี้นักร้องและนักแสดงผู้หญิงชาวอัฟกานิสถานหลายคนถูกข่มขู่ บ้างก็ถูกทำทำร้าย และบางรายถึงกับถูกฆ่า
ในสารคดีเรื่อง Afghan Star ที่ถ่ายทำเรื่องของผู้แข่งขันรายการ Afghan Star ในปี 2009 ระบุว่าผู้แข่งขันหญิงรายหนึ่งต้องออกจากบ้านเกิดในเมือง เฮอรัต เพียงเพราะระหว่างการแสดงหิญาบหรือผู้คลุมผมหล่นมาอยู่ที่ไหล่
และไม่ใช่ผู้หญิงในวงการบันเทิงเท่านั้นที่ถูกคุกคาม ผู้หญิงในอัฟกานิสถานถูกริดรอนสิทธิด้านอื่นๆอีกมาก โดยในยุคที่ตอลีบานปกครองอัฟกานิสถานในช่วงปี 1996-2001 ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ไปโรงเรียน ถูกห้ามไม่ให้มีสิทธิลงคะแนนหรือสมัครรับเลือกตั้ง ถูกห้ามไม่ให้ทำงานในงานหลายๆอย่าง และพวกเธอถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้านหากไม่มีผู้ชายไปด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ หลังจากตอลีบานหมดอำนาจ แต่ผู้หญิงในอัฟกานิสถานจำนวนมากก็ยังถูกริดรอนสิทธิที่ควรมี เมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา มีเรื่องราวทั้งที่ได้รับการเปิดเผยและไม่ได้รับการเปิดเผยมากมายที่เป็นกรณีที่ผู้หญิงถูกทำร้าย รวมทั้งกรณีสะเทือนขวัญหลายกรณีที่นักเรียนหญิงหลายคนถูกวางยาพิษเพื่อไม่ให้พวกเธอได้มีโอกาสเรียนหนังสือ ซึ่งการที่ผู้หญิงยังถูกกระทำเช่นนี้ ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าในปีหน้าเมื่อกองกำลังของนาโต้ส่วนใหญ่ต้องถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน ผู้หญิงจะยิ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและถูกกดขี่มากขึ้น
และสำหรับ อาซีซี เอง แม้จะย้ายมาอยู่ที่กรุงคาบูล ซึ่งเป็นเมืองที่ผู้คนโดยรวมมีแนวคิดที่ทันสมัยกว่าในชนบท แค่กระนั้นก็ยังไม่ง่ายสำหรับเธอ เพราะ เธอ และ บาราน อาร์ลา ผู้เข้าแข่งขันผู้หญิงอีกคน ก็ยังถูกขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมรายการนี้ โดยเวลาที่พวกเธอมาซ้อมก่อนการแสดง ก็จะมีคนตามมาและพยายามที่จะไม่ให้เธอเข้าซ้อมและไม่ให้ปรากฎตัวในรายการ และยังมีโทรศัพท์มาข่มขู่อีก ซึ่งตอนนี้ อาร์ลา ตกรอบไปแล้ว เหลือแต่ อาซีซี ที่เป็นผู้หญิงอยู่คนเดียว ท่ามกลางผู้แข่งขันชายที่ยังเหลืออยู่อีก 5 คน
อาซีซี กล่าวว่าแม้สิ่งที่เธอเจอจะหนักหนาสาหัสแต่ก็ไม่ทำให้เธอหยุดที่จะเดินตามความฝัน และไม่ว่าจะอย่างไรเธอก็ได้รับกำลังใจที่ดีเยี่ยมจากคุณพ่อของเธอที่พร้อมจะสนับสนุนเธอเสมอ
ถึงตอนนี้ เราคงได้แต่ภาวนาให้เธอมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และประสบความสำเร็จในเส้นทางที่เธอหวัง และได้แต่หวังว่าชีวิตของผู้หญิงอัฟกานิสถานรวมถึงที่อื่นๆจะดีขึ้นในเร็ววัน ไม่ใช่ต้องถูกกดขี่อย่างที่เป็นอยู่
ข่าวเด่น