แบงก์-นอนแบงก์
บทบาทแบงก์รัฐต่อนโยบายรัฐบาล


 การออกมาเปิดเผยตัวเลขหนี้เสียของธนาคารรัฐ ทั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)  และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์ ที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบเอสเอ็มอี    ได้สะท้อนถึงการปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวมของผู้บริหารธนาคาร   เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล  โดยเน้นที่ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อเป็นหลัก  ไม่คำนึงถึงคุณภาพหนี้ที่ปล่อยไป  

 โดย "เอสเอ็มอีแบงก์ "  ล่าสุดมีหนี้เ สียสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท หรือ 40% ของหนี้ทั้งหมด เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS)  ติดลบ 0.95% และต้องการเงินเพิ่มทุน 3,000-,6000 ล้านบาท และไอแบงก์มีหนี้เสีย  ณ สิ้นปี 2555  ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 22.5% ของหนี้ทั้งหมด เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 4.6% แต่ปัจจุบันหนี้เสียกลับเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 หมื่นล้านบาท หรือ 30% ของหนี้ทั้งหมด    ทำให้เงินกองทุน BIS ติดลบสูงถึง 5%

 

นายพิชัย   ชุณหวชิร  ประธานกรรมการบริหาร และประธานคณะกรรมการฟื้นฟูกิจการ เอสเอ็มอีแบงก์  ยอมรับว่า   สาเหตุการเกิดเอ็นพีแอล ของธนาคารเป็นผลจาก 1.กลุ่มหนี้รายย่อย 8 พันราย มีมูลหนี้รวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท   2. กลุ่มหนี้ที่รอการชดเชยตามนโยบายรัฐบาล (PSA) จำนวน 7 พันล้านบาท เช่นโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองย่านราชประสงค์ ผลกระทบจากอุทกภัย ธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ และสินเชื่อเอื้ออาทรรถแท็กซี่ ซึ่งเริ่มติดตามทวงหนี้ไม่ได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่มีหลักประกัน ยกเว้นหลักประกันเสื่อมสภาพ เช่นเครื่องจักร 3.กลุ่มหนี้เอ็นพีแอลและเอ็นพีเอ (สินทรัพย์รอการขาย) ที่ศาลมีคำพิพากษาและอยู่ระหว่างการบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาด 1.07 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่ นายสมชัย  สัจจพงษ์  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายธานินทร์ อังสุวรังสี  ผู้จัดการ  ไอแบงก์ พร้อมทีมผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่า ทีมบริหารของไอแบงก์ได้ชี้แจงแผนฟื้นฟูกิจการของธนาคาร  ซึ่งจากแผนที่เสนอ ในการลดตัวเลขหนี้ถือ   เป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้  แต่เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ  ทาง สศค.และสคร.จะส่งทีมเข้าไปติดตามความคืบหน้าของแผนเป็นรายวัน  และเปิดทางให้ผู้บริหารของไอแบงก์ที่เป็นคนนอก และเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งไม่นานสามารถจ้างทีมที่ปรึกษาจากภายนอกให้เข้ามาช่วยงานติดตามหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้   โดยกระทรวงการคลังให้เวลาไอแบงก์ดำเนินการฟื้นฟูฐานะภายใน 6 เดือน หลังจากนั้นจะมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

ด้าน นางสาลินี วังตาล   ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ก็ออกมาบอกว่า   ธปท.พร้อมให้ความช่วยเหลือกระทรวงการคลังในการแก้ไขปัญหาธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล  ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง    และได้รายงานผลตรวจสอบให้กระทรวงการคลังอยู่เป็นระยะ มีบางรายที่มีปัญหา    ธปท.ก็ได้ทำเรื่องส่งไปยังกระทรวงคลังเพื่อให้พิจารณาแก้ไข

รวมทั้งยังยืนยันว่า  เรื่องกฎเกณฑ์การกำกับดูแลแบงก์รัฐไม่ใช่ปัญหา    แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่คุณภาพสินเชื่อที่ปล่อย  โดยหากเป็นสินเชื่อดีไม่ต้องมีเกณฑ์เลยก็ยังได้   

 

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง   เคยออกมาประเมินว่า รัฐบาลต้องเพิ่มเงินทุนให้แบงก์รัฐในช่วงปี 2555-2562  ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากการที่ต้องปล่อยกู้สนองนโยบายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้หากผู้บริหารสถาบันการเงินไม่ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเคร่งครัด  โดยรักษาผลประโยชน์ของธนาคารเป็นที่ตั้ง    ย่อมส่งผลกระทบต่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้    ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เคยมีให้เห็นในอดีต  

 


LastUpdate 12/02/2556 03:32:31 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:43 am