นายธานินทร์ อังสุวรังษี ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) กล่าวว่า ธนาคารได้ส่งแผนเพิ่มทุนและการแก้ไขปัญหาติดตามหนี้ที่ไมม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ต่อกระทรวงการคลังแล้ว คาดว่ากระทรวงการคลังจะอนุมัติแผนเร็วๆ นี้
โดยจะปรับบทบาทหันมาเน้นปล่อยสินเชื่อชาวมุสลิมรายย่อยเพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบันที่มีพอร์ตสินเชื่อเพียง 3% และลดสัดส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่เหลือ 25% ส่วนภาคธุรกิจอื่นๆ 25%
โดยปัจจุบัน ธนาคารมีระดับเงินกองทุน 4% ได้ยื่นขอกระทรวงการคลังในการเพิ่มทุนวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนจะได้ตามที่เสนอขอหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังได้ให้ธนาคารดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการตัดลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนดำเนินการ และปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบ รัดกุม
นายธานินทร์ กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารมีปัญหาการปล่อยสินเชื่อหละหลวม มีเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่ไม่รัดกุม ไปเน้นปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มาก จนทำให้เกิดปัญหาหนี้เสีย โดยปัจจุบันมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท แต่หากพิจารณาตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีสัญญาณการเกิดเป็น NPL สูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธนาคารตั้งเป้าที่จะแก้ NPL ในปีนี้ 6 พันล้านบาท เชื่อว่าจะลด NPL ลงได้ภายใน 3 ปี
โดย NPL ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากลูกหนี้รายใหญ่ 100 ราย เป็นมูลหนี้รวม 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง ขณะที่เป็นลูกหนี้รายย่อย ราว 1 หมื่นราย เป็นมูลหนี้รวม 2 พันล้านบาท NPL ที่เกิดขึ้นได้มีการตั้งสำรองหนี้ไว้เพียง 1 หมื่นล้านบาท
ข่าวเด่น