แม้ว่าภาพลักษณ์ของธุรกิจสถาบันออกกำลังกายในประเทศไทยจะดูย่ำแย่ไปมาก โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากรายใหญ่อย่าง "แคลิฟอร์เนีย ว้าว" ปิดกิจการลอยแพลูกค้ากว่า 1 แสนราย ที่มีทั้งรายเดือน รายปี และก็ตลอดชีวิต ด้วยการปิดกิจการทั้งหมด ซึ่งสาขาสุดท้ายที่ปิดให้บริการ เพื่อปิดฉากธุรกิจ “แคลิฟอร์เนีย ว้าว" ในประเทศไทย นั่นก็คือ สยามพารากอน
จากทำเลที่ตั้งอยู่กลางยุทธศาสตร์ใจกลางเมืองของพื้นที่ที่แคลิฟอร์เนียว้าวเคยครอบครอง มาวันนี้ได้เปลี่ยนมือเป็นของสถาบันออกกำลังกาย ภายใต้แบรนด์ “ฟิตเนส เฟิรส์ท” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลูกค้าจาก “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” เข้าซบอก
นายมาร์ค บูคานนท์ กรรมการบริหาร บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจสถานบันออกกำลังกายฟิตเนส เฟิรส์ท กล่าวว่า กระแสลบจากการปิดกิจการของคู่แข่ง ยอมรับว่าทำให้ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการสมัครเป็นสมาชิกของสถาบันออกกำลังกายพอสมควร ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เน้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้บริโภค ด้วยการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคว่า สถาบันออกกำลังกายของบริษั ทเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. และออกกฎหมายคุ้มครองสัญญาให้แก่ผู้บริโภค
สำหรับการเข้ามาเปิดให้บริการสถาบันออกกำลังกายภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน บนพื้นที่ 4,000 ตร.ม. แทนที่ “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ปิดกิจการไปนั้น ฟิตเนส เฟิรส์ท ได้ใช้งบลงทุนสูงถึง 250 ล้านบาท ในการเปิดให้บริการภายใต้สโลแกน "เอเชีย แฟลกชิพ คลับ" ด้วยการนำนวัตกรรมออกกำลังล้ำสมัยที่สุดในเอเชียมาให้บริการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริกาในเดือน มิ.ย.นี้
เบื้องต้นฟิตเนส เฟิรส์ท คาดการณ์ว่า สาขาสยามพารากอนจะสามารถรองรับสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการได้ประมาณ 5,000 คนต่อวัน ซึ่งในส่วนลักษณะของคลับจะเป็น 2 ชั้น มีความหรูหรา และมีระดับ ด้วยเครื่องออกกำลังกายที่ใช้นวัตกรรมล้ำสมัยมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังจะมีพนักงานหรือครูฝึกไว้คอบบริการลูกค้าเกือบ 100 คน ซึ่งหลังจากเปิดให้ ฟิตเนส เฟิรส์ท หมายมั่นปั้นมือไว้ว่า สาขาสยามพารากอน จะเป็นคลับที่หรูที่สุดของภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้เข้ากับสโลแกนที่ว่า “Asia’s Flagship club”
นายมาร์คกล่าวต่อว่า สาขาใหม่แห่งนี้ถือว่าเป็นสาขาที่มีทำเลดีเยี่ยม ดังนั้นบริษัทจะมีการแบ่งส่วนของการออกกำลังกายออกเป็นโซนต่างๆ เช่น ห้อง กรุ๊ป เอ็กซ์เซอไซส์ สตูดิโอ พร้อมโยคะร้อน ,โซนฟรีสไตล์เทรนนิ่ง ซึ่งจะประกอบไปด้วยพื้นที่ โบซุบอล ไวเพอร์ ทีอาร์เอ็กซ์ แล ะเคทเทิลเบล พื้นที่อุปกรณ์ยกน้ำหนักฟรีเวท พื้นที่เครื่องออกกำลังกายเผาผลาญไขมัน และพื้นที่มวยไทย
ขณะเดียวกัน ก็มีอุปกรณ์เครื่องเล่นใหม่แกะกล่องที่ใช้นวัตกรรมทันสมั ยอย่าง จักรยานอิเล็กทรอนิกส์ที่มาพร้อมวิดีโอ ซึ่งสมาชิกสามารถแข่งขันกันเองได้บนลู่วิ่งที่มีความยาวกว่า 40 เมตร นอกจากนี้ ยังมีระบบเครื่องเสียงเต็มรูปแบบทั่วคลับ มีบาร์น้ำผลไม้และอาหารเพื่อสุขภาพไว้คอยบริการสมาชิก
สำหรับแผนการขยายสาขาในปีนี้นั้น ฟิตเนส เฟิรส์ท มีแผนที่จะเพิ่มสาขาใหม่อีกประมาณ 4 - 5 สาขา ซึ่งแต่ละสาขาคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท โดยในส่วนของทำเลหลักที่จะยึดเป็นหัวหอกในการขยายสาขายังคงเป็นทำเลดีใจกลางกรุง เนื่องจากคนกรุงเทพฯยังเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่นิยมออกกำลังกายในสถาบันออกกำลังกายเมื่อเทียบกับคนต่างจังหวัด
ขณะเดียวกันก็จะใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ในการปรับปรุงสาขาเก่าประมาณ 5 สาขา เพื่อให้มีความทันสมัยและรองรับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆที่จะเข้ามาใช้บริการ โดยหลังจากออกมาขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ฟิตเนส เฟิรส์ท คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากก่อนหน้าที่มีรายได้ 1,900 ล้านบาท มีสมาชิกเพิ่มจาก 60,000 คน เป็นกว่า 65,000 คน และมีผู้มาใช้บริการต่อวันเพิ่มจาก 15,000 คนมาเป็น 16,000 คน
ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจระยะยาว 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2560 นั้น ฟิตเนส เฟิรส์ท ได้วางแผนไว้ว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 4,700 ล้านบาท ในการขยายฟิตเนส เฟิรส์ท ไปทั่วโลก จากปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ประมาณ 330 สาขา ซึ่งภูมิภาคที่จะให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจเป็นพิเศษ คือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากยังมีช่องว่างให้เข้าไปทำตลาดอีกมาก
ดังนั้นงบประมาณส่วนหนึ่งหรือคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 60% จากงบรวม หรือประมาณ 2,820 ล้านบาท จะใช้ไปกับการขยายสาขาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 83 สาขา โดยประเทศหลักที่จะเข้าไปทำตลาด ด้วยการขยายสาขาจะมีด้วยกัน 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง
นอกจากนี้ ฟิตเนส เฟิรส์ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาทำตลาดในประเทศใหม่ๆ เช่น เกาหลี และจีน เพื่อนำธุรกิจเข้าไปเปิดให้บริการ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปไประมาณเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ โดยหลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทแม่จะมีรายได้รวมมาจากภูมิภาคเอเชียคิดเป็นอัตราส่วนที่ประมาณ 50%
นายมาร์คกล่าวว่า การที่หันมาให้ความสนใจตลาดในภูมิภาคเอเชียมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ เพราะว่าแนวโน้มธุรกิจสถานบันออกกำลังกายในเอเชียยังอัตราการเติบโตที่ดี เนื่องจากพฤติกรรมของคนเอเชียมีการออกกำลังกายน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งในส่วนของประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียที่บริษัทมีแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่ดี
ปัจจุบันตลาดรวมสถาบันออกกำลังกายในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ดำเนินธุรกิจอยู่ประมาณ 480 แห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าเป็นสมาชิกสถาบันออกกำลังกายต่างๆ ทั่วประเทศรวม 200,000 ราย ซึ่งจากการเปิดใหม่ของสถาบันออกกำลังกายทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ตลาดรวมสถาบันออกกำลังกายในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10-20%
ทั้งนี้ ในจำนวนของผู้ประกอบการทั้งหมด ฟิตเนส เฟิร์ส เป็นผู้นำตลาดทั้งในด้านของรายได้และสัดส่วนของจำนวนสมาชิก เนื่องจากปัจจุบันฟิตเนส เฟิรส์ท มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ 22 สาขา และกำลังจะเพิ่มเป็น 23 สาขา ภายหลังจากเปิดให้บริการสาขาสยามพารากอน
จากการดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ฟิตเนส เฟิรส์ท มีพนักงานใน 22 สาขาทั่วประเทศที่กว่า 1,200 คน มีสมาชิกเข้ามาใช้บริการตลอดทั้งปีมากกว่า 5 ล้านครั้ง มีการออกกำลังกายรวมกว่า 125,000 คลาสต่อปี โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นคลาสโยคะ 25,000 คลาส ซึ่งจากจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นและบริการที่มากขึ้น เชื่อว่า ฟิตเนส เฟิรส์ ทจะสามารถตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดสถาบันออกกำลังกายได้อีกหลายปี หากไม่มีม้ามืดทุ่มทุนก้อนใหญ่ปูพรมบี้ตลาด.
ข่าวเด่น