จากการรวมตัวของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ภายใต้ความร่วมมือในกรอบข้อตกลงประคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของสมาชิก 10 ประเทศ จะส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ขึ้นมาในด้านของเศรษฐกิจ เนื่องจากจะมีจำนวนประชากรรวมมากถึง 600 ล้านคน
ด้วยจำนวนประชากรที่มากดังกล่าว ส่งผลให้นักธุรกิจหลายคนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนนี้ และประเทศไทยก็ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เนื้อหอม ไม่แพ้กับประเทศน้องใหม่อย่างพม่าและเวีดนามที่กำลังร้อนแรง
ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่เนื้อหอมไม่แพ้กับประเทศไทยในขณะนี้ นั่นก็คือ "กลุ่มเซ็นทรัล" เพราะจากการที่กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มมีการขยายธุรกิจไปในประเทศต่างๆ มากขึ้น เริ่มต้นด้วยการเข้าไปเปิดห้างเซ็นทรัลจำนวน 3 สาขาในหางโจว เฉินตู และเสิ่นหยาง ประเทศจีน การเข้าไปซื้อกิจการห้างรีนาเซนเต ในประเทศอิตาลี ซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 2 สาขา ในมิราน และฟลอเรนซ์ และอีก 1 สาขากำลังก่อสร้างในกรุงโรม
นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปขยายธุรกิจค้าปลีกประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เข้าไปบุกตลาด ด้วยการนำห้างเซ็นทรัลเข้าไปเปิดให้บริการภายในศูนย์การค้า แกรนด์ อินโดนีเซีย ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ ที่กรุงจาร์กาตา ถือเป็นอีกหนึ่งกลวิธีของความสำเร็จที่ทำให้แบรนด์ค้าปลีกเซ็นทรัลเป็นที่รู้จักในทั่วโลกทั้งยุโรป เอเชีย และอาเซียน
นักธุรกิจที่สนใจเข้ามารุมจีบกลุ่มเซ็นทรัลอยู่ในตอนนี้มีด้วยกัน 3 ประเทศ ประกอบด้วย ฮ่องกง และสิงคโปร์ สนใจเข้ามาเจรจาของให้กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปพัฒนาโครงการธุรกิจค้าปลีก ขณะที่ตนเองจะพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่นสนใจที่จะเข้ามาร่วมทำธุรกิจเสื้อผ้า ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง หรือ สเปเชียลตี้สโตร์
สำหรับยุทธศาสตร์ที่กลุ่มเซ็นทรัลออกมาประกาศแผนเชิงรุกนับจากนี้มีด้วยกัน 3 ข้อ คือ 1. การขยายธุรกิจในประเทศ 2. การขยายธุรกิจในต่างประเทศ และ 3. การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจในรูปแบบของการควบรวมกิจการ ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาธุรกิจกับพันธมิตรประมาณ 10 ราย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยในจำนวนที่ทำการเจรจาดังกล่าว 4-5 ราย เป็นกลุ่มธุรกิจของซีอาร์ซี
ขณะที่เม็ดเงินที่จะใช้ลงทุนในช่วง 3 ปีนับจากนี้ กลุ่มเซ็นทรัลคาดว่าจะใช้งบลงทุนรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับการขยายธุรกิจในเครือทั้ง 5 กลุ่ม ซึ่งหากรวมมูลค่าเม็ดเงินลงทุนรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยเม็ดเงินดังกล่าวถือเป็นการลงทุนต่อเนื่องมาจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ส่วนแผนการการลงทุนในปีนี้ กลุ่มเซ็นทรัลก็ได้เตรียมงบประมาณสูงถึง 48,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจในเครือทั้ง 5 กลุ่ม แบ่งเป็นงบในการลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ 38,000 หมื่นล้านบาท และอีก 10,000 ล้านบาท จะเป็นเม็ดเงินสำรองการเข้าซื้อกิจการต่างๆ
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่กลุ่มเซ็นทรัลจะให้ความสำคัญในการขยายธุรกิจนับจาก นี้ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ภายใต้การดูแลของบริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือซีอาร์ซี ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะใช้งบลงทุนขยายธุรกิจคร่าวๆอยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น อีกหนึ่งขาธุรกิจสำคัญของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 8,000 ล้านบาท จะเป็นการขยายธุรกิจในเครืออีก 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจค้าส่ง ภายใต้การบริหารของบริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง หรือซีเอ็มจี กลุ่มธุรกิจโรงแรม ภายใต้การบริหารงานของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ซีเอชอาร์ และกลุ่มธุรกิจอาหาร ภายใต้การบริหารของ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป
มองลึกลงไปอีกหน่อยของ 5 กลุ่มธุรกิจ เริ่มต้นกันด้วย กลุ่มธุรกิจค้าปลีก ของ "ซีอาร์ซี" ในปีนี้มีแผนที่จะขยายสาขาธุรกิจในเครืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะห้างโรบินสัน ซึ่งปีนี้มีแผนที่จะเปิดให้บริการประมาณ 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาอุบลราชธานี เปิดให้บริการประมาณเดือน เม.ย. สาขาสกลนครและสระบุรีเปิดให้บริการประมาณไตรมาส 3 และสาขาบุรีรัมย์และสุรินทร์จะเปิดให้บริการประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้
ขณะที่ "ซีพีเอ็น" ยังปูพรมตลาดต่างจังหวัด ด้วยการยึดหัวหาดแนวตะเข็บชายแดนในการขยายศูนย์การค้าเซ็นทรัล เพราะนอกจากจะเจาะลูกค้าในจังหวัดที่เข้าไปเปิดให้บริการแล้ว ยังขยายฐานไปถึงจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเช่น สาขาเชียงราย มุ่งขยายฐานลูกค้าไปถึงประเทศพม่า ลาวและจีนตอนใต้ ขณะที่สาขาอุดรธานี ขยายฐานลูกค้าถึงประเทศลาว และสาขาหาดใหญ่ มุ่งขยายฐานลูกค้าถึงประเทศมาเลเซีย
ส่วนธุรกิจโรงแรม ของ "ซีเอชอาร์" ปีนี้ก็ยังคงเดินหน้ารับสิทธิ์บริหารโรงแรมไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็จะใช้แบรนด์ “โคซี่” ซึ่งเป็นโรงแรมในรูปแบบบัดเจ็ดโฮเทลหรือโรงแรมราคาถูกบุกตลาด เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้
สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าส่ง ของ "ซีเอ็มจี" จะเน้นการนำเข้าสินค้าใหม่ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเป็นกลยุทธหลักในการทำตลาด พร้อมกันนี้ยังได้เข้าไปตั้งสำนักงานในประเทศเซียงไฮ้ ประเทศจีน สิงคโปร์ และเวียดนาม เพื่อเข้าไปขยายธุรกิจในประเทศดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นได้นำแบรนด์ "Payless" เข้าไปทำตลาดแล้วในประเทศเวียดนาม และแบรนด์ "แมนเชสเตอร์" เข้าไปทำตลาดแล้วในประเทศสิงคโปร์
ปิดท้ายด้วยกลุ่มธุรกิจอาหาร ของ "ซีอาร์จี" ปีนี้จะมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ร้านอาหารในเครือและขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่องประมาณ 90 สาขา เน้นร้านโยชิโนยะ ,เคเอฟซี และ อานตี้แอนส์ เป็นหลัก ซึ่งหลังจากกลุ่มเซ็นทรัลขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สิ้นปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 227,300 ล้านบาท เติบโตจากปี 2555 ที่ 24%
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า "การบุกหนัก" ใน 5 ขาธุรกิจดังกล่าว จะสร้างมาร์เก็ตแชร์ให้กับกลุ่มเซ็นทรัลได้เป็นกอบเป็นกำแค่ไหน และได้ดังตามที่วาดฝันไว้หรือไม่ ...แต่งานนี้ขอบอก...."คู่แข่งทางธุรกิจ" ประมาทไม่ได้กับยักษ์ใหญ่รายนี้
ข่าวเด่น