แบงก์-นอนแบงก์
บสย.แหล่งเงินผู้ประกอบการ SMEs


การเข้าถึงแหล่งเงินทุน  เป็นปัญหาที่สำคัญมากของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม หรือ SMEs  ซึ่งรัฐบาลนำโดยกระทรวงการคลัง  ได้เห็นปัญหาดังกล่าว  และมีมติออก "พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534"  ให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง 

แต่การใช้บริการของลูกค้าในช่วงที่ผ่านมายังถือว่า มีไม่มากนัก  ขณะที่การทำธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ในปีนี้ต้องถือว่ามีความท้าทายมากขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นวันนี้ “เอซีนิวส์” จะไปเปิดใจกับ "คุณวัลลภ  เตชะไพบูลย์"   รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  ถึงบทบาทและหน้าที่ของ บสย. โดยเฉพาะในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ SMEs 

 

 

@ หน้าที่ของ บสย. คืออะไร และช่วยเหลือ SME ได้อย่างไร 

บสย. .เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล จัดขึ้นตาม "พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม"  ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง  ทำหน้าที่ให้บริการด้านการค้ำประกันสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ดี แต่มีหลักทรัพย์ไม่เพียงพอในการขอกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินในวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ 

โดย   1.ช่วยให้ภาคธุรกิจขนาดย่อมได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากที่สุด

        2.ช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการให้สินเชื่อกับธุรกิจขนาดย่อมมากที่สุด

        3.เร่งกระจายสินเชื่อไปยังทั่วประเทศได้เร็วขึ้น 

        4.ทำให้การพัฒนาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมฯบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

@ ในทางปฎิบัติ บสย. ช่วยค้ำประกันให้ SME ได้อย่างไร

ผมขอยกตัวอย่าง เช่น ลูกค้ามีสินทรัพย์ในราคาประเมิน 1,000,000 บาท   ธนาคารให้กู้ได้ 800,000 บาท (80%)

ดังนั้น (1) หากลูกค้าต้องการได้เงินกู้ 1,000,000  บาท   บสย.จะเข้าไปค้ำประกันให้ในส่วน 200,000 บาท ที่ขาด 

โดย บสย. คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อเพียงปีละ 1.75% ของวงเงินสินเชื่อที่กู้ 200,000 บาท หรือเท่ากับ 3,500 บาท / ปี

 

@ สถาบันที่ลูกค้าสามารถยื่นขอใช้บริการของ บสย.ได้มีกี่แห่ง

ธนาคารพาณิชย์ไท ยและธนาคารรายย่อยทุกแห่ง  รวมถึงสถาบันการเงิน เฉพาะกิจของรัฐ  เช่น  ธนาคารออมสิน เป็นต้น

 

@ ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการใช้บริการของ บสย.

ประโยชน์ คือ ทำให้ลูกค้าได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น  ไม่ต้องกู้เงินนอกระบบ  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง  ธุรกิจอยู่รอดได้  ส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ รวมทั้งชะลอการปิดกิจการ ลดปัญหาการเลิกจ้างงาน ส่งผลให้เกิดการจ้างงานในอนาคต 

 

 @ ปี 2556  บสย. ตั้งเป้าแผนการดำเนินธุรกิจอย่างไร 

ปัจจุบัน บสย.มีลูกค้าอยู่ที่ 60,000 ราย  วงเงินค้ำประกัน 180,000 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่มีการจัดตั้ง บสย.ที่มีลูกค้า 80,000  ราย   วงเงินค้ำประกัน อยู่ที่ 210,000  ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่วงเงินค้ำประกันลดลง  เนื่องจากผู้ประกอบการเข้มแข็งมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องมาให้ บสย.ค้ำประกัน

และในปีนี้ บสย.ตั้งเป้าค้ำประกันสินเชื่อของผู้ประกอบการไว้ที่ 80,000 ล้านบาท  ตามโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ  Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5  วงเงิน  240,000 ล้านบาท ที่มีระยะเวลา 3 ปี  ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เฉลี่ยลูกค้าจะใช้วงเงินค้ำประกันอยู่ที่  3,000,000  บาท/ราย 

 

 

 

@ แผนการตลาดในปี 2556 เพื่อทำให้ผู้ประกอบการรู้จัก บสย.ให้มากขึ้น  มีแนวทางอย่างไร

ปีนี้ บสย. จะเน้นทำการตลาดมากขึ้น  โดยจะทำให้พนักงานสาขาของธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ รู้จัก บสย.มากขึ้น โดยเฉพาะบริการของ บสย.ที่มีให้กับลูกค้า SMEs  เนื่องจากการให้บริการของ บสย.จะต้องค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพแต่ขาดวงเงินในการขยายธุรกิจ  ร่วมกับธนาคารพาณิชย์   นอกจากนี้ บสย.จะไปร่วมทำกิจกรรมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สภาหอการค้าจังหวัด  และสมาคมการท่องเที่ยว เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ บสย.ให้กับผู้ประกอบการ  โดยการจัด  “บสย.คลีนิค”  เพื่อรับปรึกษาและแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการ

 

@ ผู้ประกอบการที่จะใช้บริการของ บสย.ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร 

1. เป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท  มีสัญชาติไทย  และดำเนินกิจการในไทย

2. มีสินทรัพย์ถาวรสุทธิไม่เกิน 200 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมราคาที่ดิน

3.ประกอบกิจการที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี

4. ไม่เป็นผู้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือล้มละลาย

 

@ โครงการ PGS ระยะที่ 5  ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs  ได้อย่างไร 

โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก บสย.ให้วงเงินค้ำประกันสูงสุดที่รายละ 40  ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน ระยะเวลาค้ำประกันนานถึง 7 ปี  คิดค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1.75% ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน โดย บสย.เปิดรับคำขอตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ธ.ค.2558

 

@ ความร่วมมือกับสถาบันการเงิน 18 แห่ง ส่งผลดีอย่างไรต่อผู้ประกอบการ SMEs

ความร่วมมือครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจของตัวเอง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งโครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะ 5 (PGS5) วงเงินค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท  และโครงการค้ำประกันเงินกู้ สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) วงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท  ทั้ง 2 โครงการมีระยะเวลาในการขอค้ำประกันเงินกู้ถึง 3 ปี (2556-2558) ขณะเดียวกัน บสย.ได้ขยายการค้ำประกันวงเงินกู้แต่ละรายไม่เกิน 7 ปี

 

@ กองทุน START UP ผู้ที่จะขอใช้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

สำหรับโครงการค้ำประกันเงินกู้ เพื่อผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) วงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท จะรองรับแผนสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของรัฐบาลภายใต้โครงการ กองทุนตั้งตัวได้ โดยผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ารับการอบรมที่ผ่านการประเมินและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์จะได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากธนาคาร โดยมี บสย.ค้ำประกัน และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนตั้งตัวได้เพิ่มเติม

 

@ แนวทางการช่วยเหลือ SMEs ที่ได้ผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท 

ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน  เกี่ยวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว  ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงให้สภาอุตสาหกรรมฯ เปิดโต๊ะรับเรื่องร้องเรียน  เพื่อจะได้ทราบปัญหาที่ชัดเจน และให้ความช่วยเหลือได้ตรงกับความต้องการ  แต่จริงๆ แล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมของไทย ส่วนใหญ่ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเกินวันละ  300บาท  แต่ปัญหาที่ผู้ประกอบการเป็นห่วงมากในขณะนี้ น่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนแรงงานมากกว่า

 

@ ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มใด ที่น่าเป็นห่วงที่สุด หลังการเปิด  AEC

 

กลุ่มโลจิสติกส์  เนื่องจากผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย  ทำให้ความสามารถในการแข่งขันเพื่อสู้กับผู้ประกอบการต่างประเทศที่เป็นรายใหญ่ทำได้ยาก  ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรที่จะมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อให้เกิดอำนาจในการต่อรอง


LastUpdate 14/02/2556 17:04:16 โดย : Admin
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:39 am