ความขัดแย้งเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลัง ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ต้องการให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อไม่ให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาเก็งกำไร จนทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งทำให้วงการตลาดเงินและตลาดทุน ต้องติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ อย่างใกล้ชิด
โดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินงานนโยบายการเงิน เพื่อดูแลการเงินไหลเข้าว่า ยังคงแสดงเจตนารมณ์เดิมในการดูแลเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก เพราะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยกระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณในการขอให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อรักษาเสถียรภาพ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ กนง.ที่จะเป็นผู้พิจารณา
ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thirachai Phuvanatnaranubala" โดยระบุว่า ในกลุ่มเพื่อนของผม เขามีการพนันกันเล็กๆ โดยต่อรองกันว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันที่ 20 ก.พ. จะมีการลดดอกเบี้ยหรือไม่ และจะลดเท่าใด โดยเพื่อนๆ เทคะแนนเสียงไปว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย 0.25%
เนื่องจากดูรายชื่อกรรมการภายนอกแล้ว เห็นว่ามีหลายคนที่จะให้ความสำคัญแก่ประเด็นความสงบในสัมพันธภาพระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท. มากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ จึงอาจจะพยายามหาทางลงให้แก่รัฐมนตรีคลัง แบบที่ดูไม่น่าเกลียด
ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังยืนยันว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ต้องคำนึงถึงจุดสมดุลของตลาดด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.โดยจะพิจารณาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนความขัดแย้งกับกระทรวงการคลัง ถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกภาคส่วนมีความเห็นแตกต่างกัน เป็นการเตือนให้คิดและตัดสินใจอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น แต่ท้ายที่สุดต้องมีข้อสรุปในเชิงสร้างสรรค์
ขณะที่ภาคเอกชน นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การประชุม กนง. ในวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ทาง กนง.จะมีการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ทางหอการค้าไทยไม่ได้คาดหวัง เพราะเชื่อว่าคณะกรรมการ กนง.มีความเชี่ยวชาญและมีความเข้าใจลึกซึ้งรอบด้านกว่าทางภาคเอกชน ซึ่งมีความเข้าใจเพียงด้านเดียว และไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ในขณะนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะสามารถสกัดเงินไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรได้หรือไม่
แต่ในระยะยาวเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรมีมาตรการออกมาป้องกันการเก็งกำไร ที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนรุนแรง เพราะอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการแข่งขันของภาคเอกชนในเรื่องของการส่งออก
เมื่อพิจารณาจากมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยแล้ว คงต้องเกาะติดผลการประชุม กนง.ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ อย่างใกล้ชิด
ข่าวเด่น