การตลาด
สกู๊ป : "สิงห์" ปลุกคาร์ลสเบอร์ก ลุย "เบียร์พรีเมี่ยม" บี้ไฮเนเก้น


 



 
หลังจาก "บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด" หรือที่รู้จักกันดีในนามของ "เบียร์สิงห์"  ได้มาประกาศเซ็นสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรกับเบียร์คาร์ลสเบอร์ก เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา วันนี้ค่ายเบียร์สิงห์ได้ออกมาประกาศแผนลุยตลาดเบียร์ร่วมกับคาร์ลสเบอร์กอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

กลยุทธหลักๆ ของการทำตลาดร่วมกันระหว่างค่ายเบียร์สิงห์กับคาร์ลสเบอร์กนั้น คือ การอุดช่องว่างทางธุรกิจในด้านของตลาดเบียร์พรีเมี่ยม ที่สิงห์ยังคงมีจุดอ่อนในด้านนี้  แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการนำเข้าเบียร์พรีเมี่ยมหลายยี่ห้องจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด และปั้นตัวสิงห์ไลฟ์ ขยายเข้าไปบุกตลาดเบียร์ระดับบน  แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ  เพราะเจ้าตลาดก็ยังคงเป็นของค่ายสีเขียวอย่างเบียร์ไฮเนเก้น

แม้ว่าปัจจุบันค่าย "เบียร์ช้าง" จะพยายามปลุกปั้น "เบียร์เฟรเดอร์บรอย" เข้ามาตีตลาด  แต่ก็ยังไม่สามารถโค่นแชมป์ที่แข็งแกร่งอย่างเบียร์ไฮเนเก้นได้  เนื่องจากมีความแข็งแกร่งในด้านของแบรนด์เป็นอย่างมาก

 
 
ดังนั้น การจับมือกับเบียร์คาร์สเบอร์ก  ซึ่งถือเป็นเบียร์ชั้นนำอันดับ 4 ของโลก จากประเทศเดนมาร์ก จึงถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของเบียร์สิงห์ ซึ่งจะส่งผลให้ค่ายเบียร์สิงห์มีสินค้าในกลุ่มเบียร์ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายตลอดระยะสัญญา 5 ปีนับจากนี้

สำหรับในปีแรกของการทำตลาด ค่ายเบียร์สิงห์ได้เตรียมงบการตลาดไว้ที่ประมาณ  200  ล้านบาท  สำหรับการทำตลาดเบียร์คาร์ลสเบอร์กไล่บี้เจ้าตลาดอย่างเบียร์ไฮเนเก้น  ซึ่งในปีแรกในการลงสมรภูมิตลาด ค่ายเบียร์สิงห์คาดว่าจะมียอดขายเบียร์คาร์ลสเบอร์กไม่ต่ำกว่า  5 ล้านลิตร  หลังจากนั้นปีต่อๆ ไปจะใช้งบเพิ่มขึ้นอีก  15-20% ทุกปี  ในการบุกทำตลาดเบียร์ระดับพรีเมียม 

 
 
 
 
ก่อนหมดสัญญา ค่ายเบียร์สิงห์ตั้งเป้าจะขึ้นเป็นผู้นำเบียร์พรีเมียม ด้วยการมียอดขาย 35 ล้านลิตร และครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 51% ซึ่งช่วงแรกของการทำตลาด ค่ายสิงห์จะนำเข้าเบียร์คาร์ลสเบิร์กแบบขวดจากประเทศลาว และแบบกระป๋องจากประเทศเวียดนาม เข้ามาทำตลาดก่อน  ขณะที่ราคาขายเบียร์คาร์ลสเบอร์ก ค่ายเบียร์สิงห์ได้ตั้งราคาขายไว้เท่ากับเบียร์ไฮเนเก้น  เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ชายที่ต้องการความตื่นเต้นและท้าทายชีวิต อายุ 25-30 ปี

 
 
 
 
นายปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการบริหาร บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่สนใจนำเบียร์คาร์ลสเบอร์กเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย  เพราะตลาดเบียร์พรีเมียมในไทยมีผู้เล่นในตลาดน้อย  ส่งผลให้ตลาดเบียร์พรีเมี่ยมไม่หวือหวา และไม่มีอัตราการเติบโต  ซึ่งปัจจุบันตลาดเบียร์พรีเมียม มียอดขายเพียง  75 ล้านลิตรต่อปีเท่านั้น  หรือมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 630 ล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านี้ตลาดเบียร์พรีเมียมเคยมีปริมาณยอดขายสูงถึง 100 ล้านลิตรต่อปี

 
 
 
นอกจากนี้ ตลาดเบียร์พรีเมียม ยังถือเป็นตลาดที่มีมาร์จิ้น หรือผลกำไรสูงกว่าเบียร์กลุ่มเบียร์สแตนดาร์ดและเบียร์อีโคโนมี  จึงทำให้ค่ายเบียร์สิงห์เพิ่มความสนใจในการเข้ามาทำตลาดเบียร์พรีเมียมมากขึ้น และหลังจากส่งเบียร์คาร์ลสเบอร์กเข้ามาทำตลาดเบียร์พรีเมียม  ค่ายสิงห์มั่นใจว่าจะทำให้ตลาดมีความคึกคักและมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นม  ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดเบียร์พรีเมียมกลับมามีอัตราการเติบโตได้ปีละไม่ต่ำกว่า  10-12%  สูงกว่าตลาดเบียร์รวม ที่คาดว่าเติบโตที่ 8%  จากปีก่อนที่มีมูลค่ายอดขายรวม 103,000 ล้านบาท  ซึ่งค่ายสิงห์มั่นใจว่า ปีนี้ภาพรวมส่วนแบ่งการตลาด จะมีมากถึง 68-70%  จากปัจจุบันมีอยู่ที่  68%

นอกจากนี้ ค่ายเบียร์สิงห์ ยังต้องการจะขึ้นเป็นผู้นำติด  1 ใน 3 ของตลาดอาเซียน  เพื่อก้าวเป็นอาเซียนแบรนด์ จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 5  ในด้านของยอดขาย

นายปิติ  กล่าวต่อว่า การจับมือกับคาร์ลสเบอร์กในครั้งนี้ ถือว่า "วินวิน" ด้วยกันทั้งคู่  ซึ่งนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทนับจากนี้ จะเดินตามนโยบาย  2 ข้อ  คือ 1. สิงห์จะไม่เทกโอเวอร์กิจการใดๆ และ 2. สิงห์จะไม่ร่วมมือกับคนที่เอาเปรียบเรา หรือเราเอาเปรียบเขา แต่จะมองไปถึงการมีอนาคตที่ดีร่วมกันอย่างน้อยก็ใน  3-5 ปีนับจากนี้  หลังจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  หรือ เออีซี ในปี  2558   เพราะนั่นหมายถึง ประชากรของคนทั้งอาเซียน จะมีมากถึง  600 ล้านคน

นอกจากนี้ คาร์ลสเบอร์ก ยังมีฐานการผลิตในเออีซี มากถึง 8 โรงงาน ประกอบด้วย ในประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย  ซึ่งปัจจุบันโรงงานทั้ง 8 โรง มีกำลังการผลิตรวมกันอยู่ที่ประมาณ  1,250 ล้านลิตรต่อปี ขณะที่ค่ายเบียร์สิงห์เอง ก็มีกำลังผลิตโรงงานในประเทศไทยรวมกันอยู่ที่ประมาณ  1,700 ล้านลิตรต่อปี

 
 
 
นอกจากจะบุกหนักในตลาดอาเซียน สิงห์ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจต่อเนื่องไปยังตลาดเอเชีย และตลาดโลก  ด้วยการใช้โอกาสการเป็นพันธมิตรกับคาร์ลสเบอร์กให้มีประสิทธิภาพ  นั่นก็คือ การใช้ฐานการผลิตทั่วโลกของคาร์ลสเบอร์กเป็นฐานผลิตสินค้าของเบียร์สิงห์ เพื่อช่วยลดต้นทุนในด้านของการผลิต  เพราะคาร์ลสเบอร์กมีฐานผลิตทั่วโลก จึงทำให้ค่ายเบียร์สิงห์ไม่ต้องใช้งบลงทุนจำนวนมากในการสร้างโรงงานเองในต่างประเทศ  ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานไม่ต่ำกว่า 10 ปี  และไม่ใช่เรื่องง่าย

 
 
 
ขณะที่ ค่ายเบียร์สิงห์ จะใช้โอกาสที่คาร์ลสเบอร์กมีฐานการผลิตอยุ่ในตลาดทั่วโลก  ในส่วนของคาร์ลสเบอร์กเองก็มีแผนที่จะใช้ฐานการตลาดของสิงห์บุกตลาดในเอเซียมากขึ้นเช่นกัน  เพราะปัจจุบันคาร์ลสเบอร์กมีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอมากกว่า 500 แบรนด์ ซึ่งค่ายเบียร์สิงห์สามารถช่วยบริหารจัดการได้

 
 
 
ปัจจุบันคนไทยยังมีพฤติกรรมการบริโภคเบียร์ต่อคนต่อปีค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณ 32 ลิตร  ซึ่งทำให้ยังมีโอกาสอีกมากในการเข้ามาทำตลาดเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี  ที่มีปริมาณการบริโภคต่อคนต่อปีสูงถึง 50 ลิตร  ถือว่าสูงกว่าอัตราเฉลี่ยการบริโภคของทุกประเทศรวมกันในอาเซียน ที่มีอัตราเฉลี่นต่อคนต่อปีเพียง  15 ลิตร  ขณะที่ยุโรปบริโภคมากถึง 60-75 ลิตรต่อคนต่อปี  จึงทำให้เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ

      
 

LastUpdate 17/02/2556 15:34:30 โดย : Admin
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 11:49 pm