หุ้นทอง
YLG วิเคราะห์แนวโน้มราคาทอง 18-22 ก.พ.


สรุปการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา


ที่มา: Bisnews และ DailyFX.com

 สรุปการเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต่างจับตาคอยในสัปดาห์ที่แล้ว ก็คือ การแก้ปัญหาค่าเงินยูโรที่มีการแข็งค่ามากขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาในการประชุมรัฐมนตรีคลังของยูโรโซน แต่ผลปรากฎว่ายังคงมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้มีการเลื่อนการถกปัญหาไปในการประชุม G20 แทน ในขณะที่ปัจจัยทางสหรัฐฯก็ยังคงไม่มีประเด็นใหม่และสำคัญให้กล่าวถึง ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาทองคำไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยพื้นฐานมากนัก แต่กลับเป็นไปตามแรงเทคนิคอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อราคาทองคำไม่สามารถยืนเหนือบริเวณ 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างมั่นคง ก็ได้ส่งผลให้ราคาทองคำเผชิญแรงขายทำกำไรอย่างหนัก จนหลุด 1,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งถือเป็นโซนสำคัญ แรงขายทางเทคนิคจึงเกิดขึ้นอีกครั้งกดดันราคาทองคำให้อ่อนตัวลงทำจุดต่ำสุดในบริเวณ 1,597 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะขยับตัวขึ้นได้เล็กน้อยมาปิดตัวเหนือ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ดังนั้นแล้วโดยรวมราคาทองคำได้มีการปรับลดลงมาประมาณ  57 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ประเมินสถานการณ์และทิศทางราคาทองคำในสัปดาห์นี้

ราคาทองคำ : แนวรับ     1,580(22,400)     1,560(22,100)     1,540(21,800)  
          แนวต้าน   1,630(23,100)     1,650(23,400)     1,670(23,600)  

แม้ว่าการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed Fund Rate ไว้ที่ระดับ 0-0.25% และมีการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE วงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน แต่อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต่างจับตามองก็คือ การรายงานผลการประชุมนโยบายการเงิน FOMC Meeting Minutes รอบเดือนมกราคม ว่าทางคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟดมีความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯและการใช้มาตรการทางการเงินอย่างไร ซึ่งหากมีการกล่าวถึงการสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE เหมือนอย่างการรายงานการประชุมรอบเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็อาจกลายเป็นสาเหตุให้ราคาทองคำปรับตัวลงได้ แต่ในทางกลับกันถ้าทางเฟดยังมีมุมมองทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ไม่ค่อยดีนัก และมีแนวคิดจะมีมาตรการเพิ่มเติมก็อาจเป็นแรงผลักดันให้ราคาทองคำปรับขึ้นได้

นอกจากนี้ในรอบสัปดาห์ก็ยังมีการประกาศตัวเลขสำคัญทั้งจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯที่อาจส่งผลต่อทิศทางราคาทองคำได้ นั่นคือ ทางยุโรป จะมีการประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัการฝ่ายจัดซื้อ PMI ภาคการผลิตและบริการของประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และยูโรโซน รวมทั้งตัวเลข GDP ของเยอรมนีด้วย ขณะที่ทางสหรัฐฯ ก็จะมีดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ PMI ภาคการผลิต และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานประจำสัปดาห์

การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในประเทศ นอกจากจะได้รับผลกระทบจากราคาทองคำในตลาดโลกแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นตัวแปรสำคัญเช่นกัน โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น ทำให้ทางรัฐบาลมีความกังวลว่าอาจเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวได้ และหนึ่งในทางแก้ปัญหานั้นก็คือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ก็จะมีการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก็อาจทำให้ค่าเงินมีการอ่อนค่าลงได้ และราคาทองคำในประเทศก็มีโอกาสปรับขึ้นเช่นกัน 

กลยุทธ์การลงทุน ราคาทองคำอ่อนตัวและทะลุแนวบริเวณ1,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ลงมา ทำให้เกิดแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มระยะสั้นยังอาจปรับตัวลงได้ต่อ ดังนั้นแล้วการลงทุนยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง และเน้นการเข้าซื้อเฉพาะใกล้แนวรับสำคัญเท่านั้น หากทะลุกรอบแนวรับลงมาให้ทำการตัดขาดทุน จนกว่าการปรับฐานจะเสร็จสมบูรณ์ หรืออาจชะลอการลงทุนออกไปก่อนก็สามารถทำได้ เบื้องต้นประเมินกรอบแนวรับ-แนวต้าน ไว้ที่บริเวณแนวรับ 1,580 - 1,540 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ประมาณ 22,400-21,800 บาทต่อบาททองคำ) และแนวต้านที่ 1,630 - 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ประมาณ 23,100-23,600 บาทต่อบาททองคำ)

การประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า
 

* ที่มา Bisnews และ foexfactory.com ข้อมูลวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้

LastUpdate 18/02/2556 00:40:56 โดย : Admin
01-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 1, 2024, 1:35 pm