เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เตือน! รับมือไฟฟ้าวิกฤติเดือนเมษายน /ผู้ใช้ก๊าซ NGV เดือดร้อน


 

 
 
 
 
 เดือนเมษายน นับได้ว่าเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดของปีและของคนไทย  ซึ่งเดือนเมษายนในปี 2556 นี้  จะร้อนขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา  เมื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล  ยอมรับว่า  รัฐบาลเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องพลังงานในช่วงเดือนเมษายนนี้   เนื่องจากเกิดปัญหาท่อก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ถูกสมอเรือจนขาดเมื่อปลายปี 2555 ทำให้ส่งก๊าซไม่ได้ และก๊าซขาดไปถึง 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน   ส่วนแท่นขุดเจาะที่ประเทศพม่าทรุดตัวลง  ทำให้ต้องปิดซ่อมแซม
 
 
 
 
 
 
 
สำหรับการผลิตก๊าซที่พม่าถือเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ของประเทศ เพราะไทยซื้อจากพม่าถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อรวม 2 แหล่งนี้ตกประมาณ 1,370 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

 
 
ด้าน นางพัลลภา  เรืองรอง  กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวด้วยว่า ในการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติของพม่าในเดือนเมษายนนั้น  กกพ.จะเสนอแนวทางลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว โดยมี 2 แนวทางหลัก ได้แก่

1.มาตรการส่งเสริมให้โรงงานและห้างสรรพสินค้าลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) โดยในส่วนของโรงงานให้ไปเดินเครื่องในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย เช่น ช่วงกลางคืนแทน  ส่วนห้างสรรพสินค้าจะขอความร่วมมือให้ปรับเพิ่มอุณหภูมิในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมจะได้รับเงินสนับสนุนค่าไฟฟ้าประมาณ 2 บาทต่อหน่วย

ส่วนแนวทางที่ 2   ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปหารือกับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ว่าโรงไฟฟ้าใดมีกำลังการผลิตเหลือบ้าง เพื่อจะทำสัญญาซื้อไฟฟ้าเพิ่มในช่วงที่พม่าหยุดจ่ายก๊าซ โดยราคารับซื้อจะต้องต่ำกว่าราคาที่ผลิตจากน้ำมันเตา โดย กกพ.จะนำเสนอแนวทางดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้พิจารณา แต่หากจำเป็นต้องใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น จะกระทบต่อค่าเอฟทีในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2556 แต่ กกพ.จะพยายามให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

 
 
 
ขณะที่ นายไพรินทร์   ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซยาดานาและเยตากุนของพม่าว่า ที่เลือกซ่อมในช่วงเดือนเมษายน  เพราะเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดของปี โดยก๊าซธรรมชาติที่จะหายไปจากระบบ 1 ใน 4 ของปริมาณการใช้ทั้งประเทศ หรือหายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง ปตท.เตรียมนำก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี เข้ามาเสริมในระบบ 5 ล้านตัน หรือ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนปริมาณที่ยังขาดอยู่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะหารือกั บกฟผ.เพื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิงอื่นมาใช้ทดแทนต่อไป อย่างไรก็ดี ผู้ใช้รถยนต์เอ็นจีวีอาจจะประสบความเดือดร้อนบ้าง ซึ่งจะพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

สำหรับการใช้ไฟฟ้าในปีนี้ กฟผ. คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของปี 2556 มีแนวโน้มที่จะทำลายสถิติจากปี 2555   เนื่องจากพิจารณาสภาพอากาศขณะนี้ ถือว่าปีนี้มีโอกาสที่จะเข้าสู่วิกฤตภัยแล้งจัดเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าปริมาณการใช้ไฟปีนี้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 5% ตามทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกันกับการใช้ไฟสูงสุดจะเพิ่มขึ้นอีก 5% มาอยู่ที่ 27,000 เมกะวัตต์ จากปี 2555 ที่มีปริมาณการใช้สูงสุดอยู่ที่ 26,600 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 32,500 เมกะวัตต์  คิดเป็นปริมาณสำรองจากความต้องการใช้อีกประมาณ 15-20%

 
 
 
"วิกฤติพลังงานไฟฟ้า" ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนเม.ย.ถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลและประชาชนผู้ใช้ไฟ  ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงควรมีการเตรียมการเพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังและรวดเร็ว  รวมทั้งการมีมาตรการรองรับที่ชัดเจน  เพื่อไม่เกิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
 

LastUpdate 18/02/2556 12:29:02 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 12:39 pm