ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ออกบทวิเคราะห์ GDP ปี 2012 ขยายตัว 6.4% ไตรมาส 4 ขยายตัวดีจากอุปสงค์ในประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 4 ปี 2012 ขยายตัว 18.9%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) ส่งผลให้ตัวเลข GDP ตลอดทั้งปี 2012 ขยายตัว 6.4%YOY (เทียบกับปี 2011)
การใช้จ่ายในประเทศทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัวได้ดีกว่าคาด ในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา การบริโภคภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากการปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำตามนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาล รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้โครงการรถคันแรกยังสร้างแรงกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคสินค้าคงทนในกลุ่มยานยนต์ที่ขยายตัวถึง 169.3%YOY มากกว่า
ไตรมาสก่อนที่ขยายตัวราว 44.2%YOY ประกอบกับฐานการบริโภคที่อยู่ระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปี 2011 ทำให้ GDP ไตรมาส 4 ปี 2012 ขยายตัวสูงถึง 18.9%YOY ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ราว 15.3%YOY
อีกทั้งการขยายตัวของการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่ในระดับสูง ทำให้รายรับด้านบริการจากต่างประเทศในไตรมาสดังกล่าวขยายตัวถึง 42.3%YOY สูงกว่าไตรมาส 3 ที่ขยายตัวเพียง 14.3%YOY สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นถึง 39.3%YOY โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงกว่า 500,000 คน หรือขยายตัวถึง 162.9%YOY สูงกว่าไตรมาสก่อนที่ขยายตัวเพียง 46.9%YOY เท่านั้น
การส่งออกสินค้าเร่งขึ้นจากผลของฐานต่ำในปลายปี 2011โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เช่น ยานพาหนะ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2011 ทำให้การส่งออกสินค้าในไตรมาส 4 ปี 2012 ขยายตัว 13.5%YOY จากที่หดตัว 6.2%YOY ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2012 พบว่าการส่งออกสินค้ามีมูลค่าต่ำลงตามอุปสงค์ภายนอกที่ยังคงอ่อนแออยู่
จับตาการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน
การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา และจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนในช่วงต้นปี 2013 ได้ เนื่องจากจะมีการส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อที่ผู้บริโภคตัดสินใจไปเมื่อช่วงปลายปี 2012 แต่สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2013 นั้น สิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ คำสั่งซื้อสินค้าคงทนในปีนี้ว่าจะสามารถรักษาแรงขับเคลื่อนได้หรือไม่ ทั้งนี้ SCBEIC ประเมินว่าการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนจะชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากผู้บริโภคได้เลื่อนการสั่งซื้อในปี 2013 เข้ามาเป็นช่วงปี 2012 แล้วจำนวนไม่น้อย และประเมินว่าการบริโภคโดยรวมจะขยายตัวได้ราว 4%
เศรษฐกิจของไทยในปี 2013 ยังต้องพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับต่ำในช่วงครึ่งปีแรกตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยการใช้จ่ายในประเทศจะมีแรงส่งจากนโยบายภาครัฐ ทั้งในส่วนของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และการลงทุนจากภาครัฐผ่านโครงการบริหารจัดการน้ำที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และจากมาตรการคืนภาษีจากโครงการรถคันแรกที่เป็นแรงขับเคลื่อนการบริโภคในช่วงต้นปี 2013 ทั้งนี้ SCBEIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 4.9%
ข่าวเด่น