แบงก์กรุงศรีฯลุยปล่อยกู้รายย่อย ส่งสินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลจับกลุ่มลูกค้าวัยเพิ่งเริ่มทำงานและผู้ค้ารายย่อย ชูจุดเด่นไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก 20-28% ตั้งเป้าปล่อยกู้ 1.4 หมื่นล้าน
นายฟิลิป แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออกสินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล เข้ามาเสริมในการทำตลาดสินเชื่อรายย่อยที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าพนักงานประจำที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป และผู้ประกอบการร้านค้าที่รายได้ตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป ด้วยจุดเด่นที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก 20-28% โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในปีนี้ 1.4 หมื่นล้านบาท
การเพิ่มขยายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยมาจับตลาดนี้ ธนาคารสนใจกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยต่างๆ ที่ต้องการสินเชื่อเข้าไปต่อยอดธุรกิจให้เพิ่มขึ้น เช่นร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร หรือศูนย์การค้าแพลตินัม เป็นต้น โดยวงเงินปล่อยกู้มีตั้งแต่ 30,000 บาท ขึ้นไปจนถึงสูงสุด 1 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน
“ร้านค้าเหล่านี้จะมีฐานรายได้อยู่ระดับหนึ่งแล้ว มีกระแสเงินสดหมุนเวียนที่ชัดเจนและมากพอสมควร ซึ่งธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อจากปัจจัยเหล่านี้เป็นหลัก จึงไม่น่ากังวลเรื่องความเสี่ยงมากนัก ประกอบกับธุรกิจเหล่านี้มักจะไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ซึ่งลูกค้าจะเลือกรับเป็นเงินก้อนหรือเป็นวงเงินสำรองพร้อมใช้ก็ได้ตามความสะดวก ฉะนั้น การออกแบบสินเชื่อลักษณะนี้จึงค่อนข้างตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ชัดเจน”
อย่างไรก็ตาม นอกจากสินเชื่อรายย่อยดังกล่าวที่ให้บริการผ่านธนาคารแล้ว ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่อยู่ในเครือธนาคารกรุงศรีฯ เช่นกันอย่าง “เฟิร์สช้อยส์” ซึ่งเป็นสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อผ่อนชำระนั้น จะเป็นการทำตลาดที่แตกต่างกัน โดยที่สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคลจะเน้นตลาดระดับบนที่ วงเงินกู้เฉลี่ย 3-4 แสนบาทขึ้นไป เพื่อเสริมศักยภาพและต่อยอดธุรกิจ ส่วนสินเชื่อบุคคลของเฟิร์สช้อยส์จะเน้นตลาดผู้บริโภค วงเงินสินเชื่อเฉลี่ย 3-4 หมื่นบาทขึ้นไปเท่านั้น
สำหรับภาพรวมตลาดสินเชื่อบุคคลกรุงศรีฯ ในปีที่ผ่านมา นายฟิลิปกล่าวว่า ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรายย่อยประมาณ 1.64 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 61% ซึ่งมีปัจจัยพิเศษเพิ่มเข้ามาคือการรวมพอร์ตสินเชื่อของธนาคารเอชเอสบีซีที่ธนาคารได้เข้าไปซื้อกิจการมาด้วย แต่หากไม่นับรวมส่วนนี้ พอร์ตสินเชื่อของธนาคารก็จะขยายตัวราว 37% ถือว่าค่อนข้างสูงอยู่แล้ว และยังประเมินว่ามีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่องในปีนี้เช่นกัน
ขณะที่สัญญาณเรื่องหนี้เสียในเวลานี้ นายฟิลิปกล่าวว่า ธนาคารค่อนข้างไม่มีแรงกดดันเรื่องนี้ เนื่องจากอัตราหนี้เสียต่ำเพียง 2.35% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 20 ปีของธุรกิจ ทำให้ประเมินว่าธนาคารมีความสามารถที่จะรุกขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นพร้อมกับรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยตั้งกรอบระดับหนี้เสียไว้ไม่เกิน 2.5% ให้สอดคล้องกับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงยึดนโยบายบริหารความเสี่ยงและการพิจารณาสินเชื่อที่ระมัดระวังเช่นเดิม
ข่าวเด่น