แม้ว่าเราจะไม่สามารถล่วงรู้อนาคตได้ แต่เราสามารถเตรียมความพร้อม เพื่อ “อนาคตที่ดีและมั่นคง” ได้ มิใช่หรือ ? ขอเพียง “วางแผนการเงิน” ให้เป็น สิ่งที่หวังและอนาคตที่ฝัน ย่อมเป็นจริงได้ไม่ยาก คำกล่าวข้างต้นอยู่ในเอกสารหนังสือเล่มเล็กๆ ขนาดกระทัดรัด ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในชุดคู่มือ รู้รอบเรื่องการเงิน ตอน วางแผนการเงินอย่างชาญฉลาด สำหรับประชาชนขึ้น เพื่อเป็นเสมือนเพื่อนคู่คิด ที่คอยแนะแนวทางในการจัดการทางการเงิน ซึ่งจะทำให้เกิด ความมั่นคง และมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต สิ่งที่ผมได้อ่านในฐานะประชาชนคนหนึ่งต้องยอมรับว่าในบางช่วงบางเวลาของการใช้ชีวิตซึ่งต้องมีการวางแผนการหาเงิน การสะสมเงิน การใช้เงินเพื่อการลงทุนสำหรับอนาคต เช่น
1. การสร้างอนาคตสำหรับครอบครัวตัวอย่าง การสร้างเรือนหอเวลาเริ่มครอบครัว การสร้างบ้านใหม่หรือต่อเติมบ้านเก่าเมื่อลูกๆ เติบโต ท้ายสุดคือการปรับปรุงบ้านเดิมสำหรับชีวิตหลังการทำงานเมื่อเราจะมีอายุ 60 ปีกับอีก 1 วัน นั่นคือ วันที่เริ่มต้นหลุดพ้นจากงานประจำในหน้าที่ 8 โมงเช้าจบที่ 5 โมงเย็น
2. การสร้างความมั่งคั่ง หรือความร่ำรวยจากการหาเงินและใช้เงินไปเพื่อการออมและการลงทุน เช่น การหาที่ฝากเงินที่ให้ดอกเบี้ยสูงๆ ที่เราเรียกว่านักล่าอัตราดอกเบี้ย อีกกรณีหนึ่งคือการนำเงินไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนด้วยการแลกกับการบริหารความเสี่ยงกับสิ่งที่เรียกว่าผลขาดทุน อันนี้ขึ้นกับโอกาส จังหวะการลงทุน การตัดสินใจ ความโลภ ความมีวินัยในการปฎิบัติทั้งในกรณีที่มีผลกำไรและมีผลขาดทุน เอาให้ชัดๆ ทันกับเหตุการณ์คือราคาหุ้นในกระดานของประเทศไทยที่เติบโตแบบน่าตกใจ อะไรจะปานนั้นบางกิจการราคาหุ้นโตขึ้นเก้าเท่าโดยไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเลย ทั้งโครงสร้างกิจการ การบริหาร ประเภทธุรกิจ ยอดขาย ผู้บริหาร บางกิจการมีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อผลกำไรต่อหุ้นที่เรียกว่า PE ratio กระโดดไปเป็นหลายสิบเท่านั่นเท่ากับว่าต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีกว่าที่ผลกำไรในแต่ละปีต่อหุ้นจะกลับมาเท่าราคาตลาดของหุ้นในปัจจุบัน ถ้าเราอายุ 50 ปี ซื้อหุ้นที่มี PE 50 เท่า ก็หมายความว่า เราจะคุ้มทุนในของที่เราซื้อจากการเปรียบเทียบกำไรต่อหุ้นเมื่อเราอายุ 100 ปี เวลานั้นเราจะเอาเงินไปทำอะไร หรือเรายังจะมีชีวิตอยู่ถึงเวลานั้นหรือเปล่า ส่วนใหญ่คงตอบว่าไม่ใช่แน่และคงตอบว่าซื้อมาเพื่อรอขายออกไปฟันกำไร ส่วนต่างจากการซื้อถูกขายแพงนั่นเอง ทำไมหนอเราไม่นึกถึงเวลาซื้อแพงขายถูกๆ จนเห็นน้ำตาจระเข้ หลายท่านจำเหตุการณ์ในปี 2540 ได้ไหม ถ้าจำได้ทำไมยังไม่มีใครกลัวกันบ้างเลยเวลานี้
3. การจดบันทึกการใช้ การจ่ายตามที่หนังสือเล่มเล็กนี้บอก หรือการทำแบบสอบถามเพื่อวัดตัวตนของเรา นิสัยของเราว่าจะรอดหรือไม่รอดในอนาคต อันนี้เป็นจุดที่น่าสนใจมากๆ นะครับเพราะขัดกับจริตคนไทยโดยทั่วไปในเรื่องการจดการเขียนพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง ส่วนใหญ่จะชอบมั่วๆ ดำดิน หมุนๆ กันไปที่เรียกกันว่าชักหน้าให้ถึงหลังให้ได้ บางคนบางท่านที่ทำธุรกิจมีเงินเข้าเป็นแสนเป็นล้านเพียงชั่ววินาทีเงินจำนวนเท่ากันหรือมากกว่าก็มาถอนออกไปใช้จ่ายตามรายการที่รออยู่ เราจะเห็นได้ในบรรดาผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ ของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ผลก็คือต้องหาเงินจากแหล่งใหม่มาใช้แหล่งเก่าอย่างต่อเนื่องยากจะหลุดพ้น ผมเห็นด้วยว่าการจดลงไปจะเป็นตัวหยุดยั้งให้ใจของแต่ละคนเกิดความละอาย ลดละเลิกในสิ่งที่จะต้องซื้อหามาเพื่อปรุงแต่งความอยากได้ใคร่มีของแต่ละคน แต่ละท่าน
4. ข้อแนะนำการก่อหนี้ หากมีความจำเป็น การก่อหนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเสมอไปหากรู้จักบริหารจัดการและก่อหนี้ ที่มีประโยชน์ สินเชื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น เช่น กู้เพื่อซื้อบ้าน กู้เพื่อประกอบธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องประเมิน ความสามารถในการชำาระคืนของตนเองด้วย โดยมีหลักคร่าวๆ คือ ภาระในการ ชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยของหนี้ทุกประเภทรวมกันในแต่ละเดือน ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน กล่าวคือ หากเรามีรายได้ 15,000 บาท เราควรมีภาระในการจ่ายหนี้ทุกประเภทในแต่ละเดือนไม่ควรเกิน 6,000 บาท จึงจะเหมาะสม ปลอดภัย
ท่านผู้อ่านสามารถ download เอกสารนี้ได้จากการเข้าไปที่ www.bot.or.th และตามไปที่แหล่งข้อมูลศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินหรือศูนย์ 1213 นั่นเอง อย่าลืมนะครับความรู้ที่มาจากการขนขวายจะช่วยป้องกันความเสี่ยงที่คอยจะมารุกรานเราได้ทุกเมื่อ เพราะวันนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอน
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น