
"ฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ได้เป็นที่กล่าวถึงในช่วงที่ผ่านมา ว่ากำลังเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของไทยอีกหรือไม่ หรือจะซ้ำรอยวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือไม่
ต่อกรณีนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี "อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2013" โดย ยืนยันขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณการเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากปริมาณการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ ถือว่าสอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ ขณะที่การระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของกลุ่มสถาบันการเงิน ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว
และภาวะฟองสบู่จะต้องเกิดจากปริมาณทรัพย์สินที่มีจำนวนจำกัด ขณะที่ความต้องการมีมากเกินไป และมาจากสภาพคล่องที่สูง แต่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เห็นปริมาณการก่อสร้างหรือปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่อเนื่องมาในทศวรรษที่ผ่านมา ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวใหญ่มาเป็นครอบครัวเดี่ยว ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยมีมากขึ้น
ส่วนนโยบายการเงินหากจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินเชื่อ และนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ของธุรกิจหรือไม่ นายกิตติรัตน์ ชี้แจงว่า ในอดีตอาจมีการโยงว่า ดอกเบี้ยต่ำและปริมาณเงินมากเป็นเหตุให้เกิดภาวะฟองสบู่ แต่ถ้าสังเกตจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยสูง ก็สามารถเป็นสาเหตุของสบู่ได้เช่นกัน เพราะจะเกิดการดึงเงินทุนจากนอกระบบเศรษฐกิจเข้ามา ทำให้ปริมาณเงินในประเทศสูงขึ้น
ด้าน นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย มองว่า การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปัจจุบันถือว่าไม่ร้อนแรงมากนัก แม้ในปีนี้คาดการณ์ว่า จะขยายตัวได้ร้อยละ 15 แต่หากเปรียบเทียบการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะนำไปสู่วิกฤตในปี 2540 จะต้องขยายตัวร้อยละ 30 – 40 รวมทั้งสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ถือว่าน้อยมาก และเห็นว่าฟองสบู่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก และอยู่เป็นระยะเวลานานเหมือนในสหรัฐฯ
ส่วนมาตรการในการป้องกันการเกิดปัญหาฟองสบู่ที่ควรนำมาใช้ คือ การกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่อยู่ที่ร้อยละ 5-10 ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับที่ทั่วโลกใช้ คือ ร้อยละ 20
สอดคล้องกับศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการ กล่าวว่า สัญญาณฟองสบู่ในปี 2556 นี้ คงไม่มีความน่าเป็นห่วง แต่ในปีหน้าต้องระวังให้มากขึ้น เพราะขณะนี้มีทุนไหลเข้ามา จึงมียอดการซื้ออสังหาในชื่อต่างชาติเพิ่มขึ้น เช่น การซื้อคอนโดมีเนียม ซึ่งหากเป็นการเข้ามาลงทุนในระยะยาว ถือว่าเป็นสิ่งดี แต่ก็ควรระวังการเก็งกำไร
แต่สิ่งที่น่าเป็นเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ น่าจะเกี่ยวกับการลงทุนสร้างโครงการใหญ่ในต่างจังหวัดของบริษัทขนาดใหญ่เพราะหากการลงทุนโครงการใหม่ในทำเลที่มีความต้องการน้อยอาจมีปัญหา ไม่สามารถขายที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างได้ และอาจมีปัญหากับทางธนาคารพาณิชย์ในภายหลัง โดยในขณะนี้พบปัญหาโครงการใหม่ในหลายจังหวัดของภาคอีสาน
ข่าวเด่น