เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"รัฐ-เอกชน" รับมือไฟดับ 5 -14 เม.ย.


 

 

 

การรับมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ภายหลังการออกมายอมรับเกี่ยวกับวิกฤติการขาดแคลนพลังงานในช่วงวันที่ 5-14 เม.ย. ของนายพงษ์ศักด์ รักตพงศ์ไพศาล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน       

นายพงษ์ศักด์   รักตพงศ์ไพศาล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  บอกภายหลัง นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( ส.อ.ท.) พร้อมคณะตัวแทนจาก ส.อ.ท.  เข้าหารือแนวทางการดำเนินการต่อสถานการณ์วิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้าว่า  ส.อ.ท.ยืนยันให้ความร่วมมือในการประหยัดไฟฟ้า โดยกำหนดให้วันที่ 5 เม.ย.  ซึ่งเป็นวันที่มีความเสี่ยงจะเกิดไฟฟ้าตกในบางพื้นที่ เป็นวันหยุดงานของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม  และให้ไปทำงานชดเชยในวันที่ 7 เม.ย. แทน

ส.อ.ท.คาดว่า ภายใน 2 สัปดาห์ จะส่งข้อมูลกลับมาที่กระทรวงพลังงาน  เพื่อสรุปตัวเลขว่าจะมีโรงงานส่วนใดบ้างที่ชะลอการผลิตในช่วงวิกฤตดังกล่าว โดยจะส่งต่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) เพื่อประเมินภาพรวมกำลังการผลิตอีกครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าปริมาณสำรองฉุกเฉินจะเพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้ 600 เมกะวัตต์ หากภาคเอกชนพร้อมใจกันร่วมมือ โดยเฉพาะ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี กระดาษและพลาสติกซึ่งมีการใช้ไฟค่อนข้างมาก

ด้าน นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล   ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่า  จากการหารือกับ รมว.พลังงาน ได้รับทราบข้อเท็จจริงและจะกลับไปประสานงานกับ 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. เพื่อขอความร่วมมือชะลอการผลิตในวันที่ 5 เม.ย.ออกไป  เพราะภาคเอกชนใช้ไฟในโรงงานอุตสาหกรรมสูงถึงร้อยละ 40 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ   ซึ่งหากร่วมมือประหยัดไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายและมีความเสี่ยงลดลง

         
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์   นายศุภรัตน์ สุวรรณางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ผู้ประกอบการยานยนต์มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ไฟฟ้าของไทยอย่างมาก เพราะหากไฟฟ้าตกหรือสะดุด 4-5 นาที จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โรงงานมูลค่าหลายล้านบาท  โดยเฉพาะกระบวนชุบสี เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบการจะสำรองไฟฟ้าประมาณ 2 นาทีเท่านั้น  ซึ่งกลุ่มยานยนต์พร้อมให้ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิต และมาเพิ่มกำลังการผลิตวันที่ 7 เม.ย. แทน   ทั้งนี้จะทำให้กำลังสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปริมาณมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์มีมากกว่า 1,700 บริษัท

 
 
 
 
 
 
ด้าน กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดส่งก๊าซพม่าในครั้งนี้ กล่าวว่า  บริษัทราชบุรีโฮลดิ้ง ได้เตรียมสำรองน้ำมันเตา 63 ล้านลิตร เพื่อใช้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ 6 วัน หรือใช้น้ำมันเตาอยู่ที่ 7 ล้านลิตร/วัน กับสำรองน้ำมันดีเซล 24 ล้านลิตร เพื่อเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้ 7 วัน เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่จะหายไปจากระบบประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ส่วนวงการธนาคาร นายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการ ผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างจริงจัง เพราะธุรกิจธนาคารถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ระบบหยุดทำงานไม่ได้  จึงต้องมีผู้รับผิดชอบและกระบวนการรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งโดยระบบงานแล้ว ธนาคารกสิกรไทยมีระบบปั่นไฟฟ้าสำรองประจำการในสำนักงานหลักทั้ง 3 แห่ง คือสำนักงานใหญ่ราษฎร์บูรณะ สำนักงานพหลโยธิน และสำนักงานแจ้งวัฒนะ  ซึ่งเป็นศูนย์เซิร์ฟเวอร์หลักและสำรองที่ต้องมีไฟฟ้าไว้รองรับตลอดเวลา

ขณะที่ นางเกศรา มัญชุศรี รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  เชื่อว่าทางรัฐบาลคงจะไม่หยุดจ่ายไฟในพื้นที่ใจกลางธุรกิจ หรือปล่อยให้เกิดไฟดับขึ้น มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ และเชื่อว่าน่าจะมีทางออกที่ดีได้ ที่ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวม  สำหรับตลาดหลักทรัพย์นั้น มีระบบไฟสำรอง พร้อมรับมือทั้งในกรณีไฟกระชากและในกรณีไฟดับ  เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์  นอกจากนี้ ยังมีระบบเติมน้ำมันที่สามารถนำมาปั่นไฟฟ้าได้        













 

LastUpdate 23/02/2556 00:52:34 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 1:10 pm