การตลาด
สกู๊ป : "เซเว่นแคตตาล็อค" ปลุก "เอสเอ็มอี" ปรับตัว รับมือเออีซี


 

จากการที่บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน)  มีแผนที่จะเข้าไปขยายธุรกิจร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น  ธุรกิจเซเว่นแคตตาล็อค  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นเสมือนเงาตามตัวของร้านเซเว่นอีเลฟเว่นก็มีแผนที่จะขยายธุรกิจในตลาดอาเซียนเช่นกัน เนื่องจากสัดส่วนยอดขายส่วนใหญ่ยังคงมาจากช่องทางร้านเซเว่นฯ

สิ่งที่เซเว่นแคตตาล็อคต้องเร่งปรับตัว  เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจและการแข่งขันที่จะเพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือ  การพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ เนื่องจากสัดส่วนสินค้าประมาณ 40% เป็นสินค้าของผู้ประกอบการรายเล็กหรือเอสเอ็มอี  และกำลังจะเพิ่มเป็น 60% ในสิ้นปีนี้  จึงทำให้เซเว่นแคตตาล็อคต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งในเรื่องของคุณภาพสินค้า และบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ เซเว่นแคตตาล็อค ยังได้จับมือร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) มอบทุนการศึกษาให้แก่คู่ค้าของเซเว่นแคตตาล็อคให้ได้เข้าเรียนในหลักสูตร MBA in Retail Business Management (วิชาเอกการจัดการธุรกิจค้าปลีก) และ MBA in Logistics Management (วิชาเอกการจัดการโลจิสติกส์) เพื่อช่วยพัฒนาบุคลากรให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นายอำพา  ยงพิศาลภพ  รองกรรมการผู้จัดการ  บริษัท ซีพี ออลล์  จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่นแคตตาล็อต กล่าวว่า  การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี  ที่จะเกิดขึ้นในปี  2558  กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเร่งปรับตัว  เพื่อรองรับฐานตลาดที่ใหญ่ขึ้น  เพราะถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดข้ามแดนทั้งในรูปแบบการขยายฐานการผลิตและช่องทางการค้าออนไลน์เมื่อยุคการค้าไร้พรมแดน  

ช่วงเวลาดังกล่าวจะมีทั้งการเคลื่อนย้ายทุน โนว์ฮาวน์การจัดการต่าง ๆ การเดินทางของผู้คนจะเข้าออกได้อย่างอิสระ  ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจการซื้อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  ดังนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรมีการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดี  เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้  นายอำพา กล่าวว่า  บริษัทยังคงมุ่งเน้นสนับสนุนสินค้าของคนไทย โดยเฉพาะสินค้าจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย  ซึ่งภายหลังจากที่มีการนำสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  มาจำหน่ายร่วมกับสินค้าต่างๆ จากแหล่งที่มาที่หลากหลาย ทำให้เซเว่นแคตตาล็อคมีส่วนผสมของสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

 
 
 
 
นอกจากนี้ยังจะมุ่งเน้นไปที่การเข้าถึงลูกค้าด้วยช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย และการทำตลาดที่มุ่งเน้นลูกค้าเฉพาะรายมากขึ้น   เน้นทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด  ซึ่งในส่วนของสินค้าที่นำมาทำตลาดก็จะเน้นไปที่กลุ่มที่มีประโยชน์การใช้สอยภายในบ้าน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า  ของตกแต่งบ้าน  และสินค้าแฟชั่นสตรี  

ขณะเดียวกันก็จะเน้นการสร้างความผูกพันกับลูกค้าผ่านสื่อต่างๆ ด้วยกลยุทธ์การสื่อสารสองทาง คือ  การเน้นให้ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย  คอลเซ็นเตอร์  ,เว็บไซต์  และโซเชียลเน็ตเวิร์ค  เพื่อให้การสั่งซื้อสินค้าและบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 นายอำพา กล่าวต่อว่า  อีกสิ่งหนึ่งที่บริษัทจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นการรองรับการเปิดเออีซีที่จะมีเกิดขึ้นในอนาคต นั่นก็คือ  การขยายคลังสินค้าให้ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ  ด้วยการอิงคลังสินค้าของร้านเซเว่นฯที่มีอยู่เดิมเป็นหลัก  เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่ง 

ปัจจุบันเซเว่นแคตตาล็อคมีคลังสินค้าที่ดำเนินการอยู่ด้วยกัน 1 แห่ง จำนวน 3 จุด  3 ความรับผิดชอบประกอบด้วย  จุดที่ 1  จะทำหน้าที่แพ็คสินค้า  ขณะที่จุด 2 จะทำหน้าที่รองรับสินค้าหมุนเวียน  และจุดที่ 3  ทำหน้าคัดแยกสินค้า  เพื่อส่งมอบไปยังสาขาต่างๆ

สำหรับในส่วนของปีนี้เซเว่นแคตตาล็อคมีแผนที่จะใช้งบ 30 ล้านบาทในการลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่บนพื้นที่ 2,800 ตร.ม. ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี  เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตและป้องกันความเสี่ยงในด้านของภัยพิบัติโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม  เนื่องจากปลายปี 2554 ที่ผ่านมาคลังสินค้าที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี  ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม

หลังจากเปิดคลังสินค้าแห่งใหม่ที่ชลบุรีแล้วเสร็จประมาณไตรมาส 2-3 ของปีนี้ แคตตาล็อคเซเว่นก็มีแผนที่จะขยายคลังสินค้าแห่งต่อไปให้ครบทุกภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน  ซึ่งเลือกจังหวัดไว้แล้วคือ  ขอนแก่น  ขณะที่ภาคใต้ก๋มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น สุราษฎร์ธานี  ขณะที่ภาคเหนือยังไม่สามารถสรุปแผนที่แน่ชัดได้  เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษาทำเลที่มีศักยภาพมากที่สุด

ในส่วนของงบการลงทุน เซเว่นแคตตาล็อคคาดว่า  จะใช้งบประมาณในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับงบลงทุนกับคลังสินค้าที่ชลบุรี  เช่นเดียวกับขนาดพื้นที่ที่คาดว่าจะมีความใกล้เคียงกัน  คืองบลงทุน  30 ล้านบาท บนพื้นที่ประมาณ  2,800  ตร.ม. 

อีกหนึ่งสิ่งที่เซเว่นแคตตาล็อคต้องเร่งทำในเวลานี้นั่นก็คือ  การเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับลูกค้าผ่าน 5 กลยุทธหลัก ประกอบด้วย  1.ความถูกต้องแม่นยำ  2.ความรวดเร็ว  3.คุณภาพของสินค้า  4.การรับประกันความพึงพอใจ  และ 5.หากไม่พอใจสามารถนำสินค้ามาคืนได้

ปัจจุบันเซเว่นแคตตาล็อคมีจำนวนสินค้าที่จำหน่ายทั้งหมด  1,700 รายการ  เป็นสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  40%  และในสิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น  60%  ซึ่งสินค้าในจำนวนดังกล่าวจะมีการหมุนเวียนทุก 2 เดือน  ที่มีการจัดพิมพ์นิตยสารใหม่  เพื่อให้สินค้าที่ได้รับความนิยมทำตลาดได้ต่อ  และสินค้าที่ได้ไม่ได้รับความนิยมต้องกลับออกมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ทั้งนี้ยอดพิมพ์ในแต่ละรอบของนิตยสารเซเว่นแคตตาล็อคจะอยู่ที่ประมาณ  3.5-4 แสนเล่ม  ซึ่งในแต่ละรอบก็จะมีการทำโปรโมชั่นสินค้าที่แตกต่างกันออกไป  เพื่อจูงใจผู้บริโภค  เช่น  การแจกทอง  และการจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ  เป็นต้น

นอกจากนี้เซเว่นแคตตาล็อคยังได้มีการทำกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับสถาบันทางการเงิน  เพื่อมอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าไม่ว่าจะเป็น  ธนาคารกสิกรไทย  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  ธนาคารทหารไทย  หรือธนาคารกรุงไทย  เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันเซเว่นแคตตาล็อคจะมีการทำกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับสถานบันการเงินอย่างต่อเนื่อง  แต่ยอดขายหลักก็ยังคงมาจากหน้าร้าน หรือการขายผ่านร้านเซเว่นฯ  เพราะลูกค้ายังไม่มีความมั่นใจการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้า  ประกอบกับรายได้ส่วนใหญ่  54%  ยังมาจากลูกค้าต่างจังหวัด  และอีก 46% มาจากลูกค้าในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีฐานสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านราย คาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เซเว่นแคตตาล็อคยังคงต้องเดินหน้าพัฒนาระบบการบริการและความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งในส่วนของเป้าหมายสิ้นปีนี้เซเว่นแคตตาล็อคคาดว่าจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% จากปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 2,300 ล้านบาท 
 

LastUpdate 23/02/2556 01:59:02 โดย : Admin
24-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 24, 2024, 12:06 am