บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "การเปลี่ยนผ่านผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน ...การส่งต่อนโยบายเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน"
ประเด็นสำคัญ
• หลังการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของสี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียง ผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน คาดว่า ในระยะกลาง แนวนโยบายเศรษฐกิจของจีนน่าจะเน้นปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ตามแผนฯ 5 ปี ฉบับที่ 12 อันประกอบด้วย การลดช่องว่างรายได้ และกระจายความเจริญสู่ชนบท การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การดึงดูดทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในจีนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการส่งเสริมให้ทุนจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
• ขณะที่ในปี 2556 คาดว่า รัฐบาลจีนคงดำเนินนโยบายประคองการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมีการสานต่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ไปพร้อมๆ กับการควบคุมดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ และอัตราเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2556 น่าจะขยายตัวได้ที่ราวร้อยละ 8.1 เร่งขึ้น หลังจากที่ในปี 2555 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 13 ปี
การประชุมสภาประชาชน (The National People’s Congress: NPC) ของจีน ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2556 นับเป็นหมุดหมายสำคัญทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของมหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างประเทศจีน เนื่องจากนายสี จิ้นผิง ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ และหลี่ เค่อเฉียง ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะขึ้นรับตำแหน่งผู้นำจีนรุ่นที่ 5 อย่างเป็นทางการ และจะดำรงตำแหน่งต่อจากนี้ไปอีก 2 สมัยรวมเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะมีการประกาศทิศทางและเป้าหมายด้านเศรษฐกิจของจีน ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งก็อาจมีผลเชื่อมโยงในมิติเศรษฐกิจต่อประเทศอื่นๆ จากบทบาทความสำคัญของจีนต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มทวีความสำคัญยิ่งขึ้นทุกขณะ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า หลังการประชุมสภาประชาชนในเดือนมีนาคม 2556 พบว่า มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
คาดในระยะกลาง แนวนโยบายเน้นปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ตามแผนฯ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558)
จากการที่จีนได้มีการวางตัวผู้นำชุดใหม่ไว้แล้วจากการประชุมสมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 รวมทั้งสัญญาณด้านนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวนโยบายเศรษฐกิจของจีน ในภาพใหญ่ หรือในระยะกลางหลังการรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของผู้นำชุดใหม่ จะยังคงยึดแนวทางตามแผนฯ 5 ปี ฉบับที่ 12 เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวเป็นสำคัญ
• ผู้นำใหม่ย้ำจุดยืน เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีคุณภาพ สร้างความผาสุกในสังคม
โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในแผนฯ ฉบับที่ 12 ที่ทางการจีนได้ส่งสัญญาณผลักดันอย่างเข้มข้นหลังการวางตัวผู้นำชุดใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา ได้แก่ การลดช่องว่างรายได้ และกระจายความเป็นเมือง ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2556 รัฐบาลระดับท้องถิ่นของพื้นที่การปกครองในเขตชนบท อาทิ มณฑลกุ้ยโจว และส่านซี ได้กำหนดเป้าหมายอัตราการเติบโตของจีดีพีปี 2556 ในอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.9 ขณะที่พื้นที่การปกครองชั้นนำ อาทิ นครช่างไห่ และมณฑลกว่างตง กำหนดเป้าหมายการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว นอกจากนั้น เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด 31 พื้นที่การปกครอง ได้กำหนดเป้าหมายที่ลดลงจากเป้าของตนเองในปีก่อนหน้า เพื่อให้ความสำคัญกับคุณภาพของการพัฒนา อาทิ การกระจายรายได้ที่ทั่วถึงยิ่งขึ้น และเพื่อลดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายบริหารท้องถิ่น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบการเงินของประเทศ
ในด้านการกระจายรายได้ รัฐบาลกลางของจีนได้มีการประกาศแผนการกระจายรายได้ (Income-distribution plan) ซึ่งมีเป้าหมาย ได้แก่ 1) การยกระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสู่ระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของเงินเดือนเฉลี่ยในเขตเมืองภายในปี 2558 และ 2) การเพิ่มรายได้ต่อหัว จากราว 35,000 หยวนต่อปีในปี 2553 เป็น 2 เท่าภายในปี 2563 โดยจะผลักดันผ่านหลายมาตรการ อาทิ การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐให้กับภาคการศึกษา ระบบประกันสุขภาพ และบ้านเอื้ออาทร และการเพิ่มการจ่ายเงินปันผลของวิสาหกิจของรัฐให้กับโครงการเพื่อสังคม
• ในกรอบระยะกลาง เน้นเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมตามแผนฯ ฉบับที่ 12
โดยภาพรวมแล้ว ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ทางการจีนจะยังคงแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจตาม แผนฯ ฉบับที่ 12 (2554-2558) ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้
การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
? ลดการพึ่งพาภาคการส่งออก และภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเป็นจำนวนมาก
? ส่งเสริมการบริโภคในประเทศ การลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และธุรกิจภาคบริการ
การดึงดูดทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในจีนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
? ปรับปรุงกฎระเบียบ โครงสร้างภาษี สร้างกลไกกำหนดราคาสินค้าทุนให้เอื้อต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจยิ่งขึ้น
? ดึงดูดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพื่อปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมสู่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดมลพิษ
การส่งเสริมให้ทุนจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
? สนับสนุนด้านเงินทุนแก่วิสาหกิจที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ
? ให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะกรอบ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับจีนเป็นอย่างมาก
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวนโยบายข้างต้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล ระหว่างการเติบโตด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ กับคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะช่วยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพื่อการเสริมสร้างการเติบโตของจีนอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะกลาง นโยบายระดับมหภาคคงเน้นประคองการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2556
เพื่อให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตและเสริมสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจตามแผนฯ 5 ปีฉบับที่ 12 ได้ ในระยะสั้น ทางการจีนต้องมีการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับแนวนโยบายระยะกลางในแผนฯ ดังกล่าว โดยเน้นการประคองแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ หลังจากที่มีการชะลอตัวในปี 2555 พร้อมกันนั้น ก็ต้องมีการควบคุมการฟื้นตัวให้อยู่ในระดับที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไปด้วย
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจจีนปี 2556 คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2556 น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ราวร้อยละ 8.1 หลังจากที่ในปี 2555 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 13 ปี โดยได้แรงขับเคลื่อนสำคัญจากการสานต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไว้ในช่วงกลางปี 2555 ได้แก่ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน และการลงทุนโครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในท้องถิ่น เช่น การลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้า และการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาขาที่สอดคล้องกับแผนฯ ฉบับที่ 12 เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น (โดยล่าสุดในเดือนก.พ. 2556 กระทรวงการคลังจีนได้ประกาศจัดสรรงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานราว 1.2 แสนล้านหยวน หรือราว 19.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในปี 2556) อย่างไรก็ดี ยังมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจซีกโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจกดดันการฟื้นตัวของจีนในปี 2556 ให้มีจังหวะการก้าวเดินที่เชื่องช้าลง
โดยล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่จัดทำโดยสหพันธ์โลจิสติกส์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 50.1 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจบ่งชี้แรงส่งของการฟื้นตัวที่อ่อนแรงลง ขณะเดียวกัน ยังคงมีปัจจัยภายในประเทศที่รัฐบาลต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ได้แก่แนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 รัฐบาลกลางได้เพิ่มมาตรการควบคุมการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ปรับเพิ่มอัตราภาษีการขายบ้าน และเพิ่มเงินดาวน์ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับบ้านหลังที่ 2 เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจากแนวโน้มสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ทำให้รัฐบาลจีนคงต้องมีการดำเนินนโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่นให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีนเป็นสำคัญ
ข่าวเด่น