เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทย...เผชิญ "ปัญหาขาดแคลนแรงงาน"






แม้รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300  บาททั่วประเทศ  แต่อุตสาหกรรมไทยก็ยังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานในหลายสาขาที่สำคัญ  เช่น  กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าไทย  นายครรชิต จันทนพรชัย   นายกสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมรองเท้าได้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน กว่า 10,000 คน    เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ได้ย้ายกลับไปภูมิลำเนาตัวเอง  แล้วไม่กลับมาทำงานที่เดิม   แม้จะจ่ายค่าจ้าง 300 บาท ตามอัตราการจ้างงานขั้นต่ำ   แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการผลิตรองเท้า ทำให้ผู้ประกอบการ จึงหันไปใช้แรงงานต่างด้าวแทน  

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน  นางอัชนา ลิมไพฑูรย์  นายกสมาคมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย  บอกว่า ในปีที่ผ่านมามีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จำนวน 500,000 คน  จากการผลิตรถยนต์ที่ 1.45 ล้านคัน ซึ่งก็ยังมีจำนวนแรงงานสู่อุตสาหกรรมไม่เพียงพอ ขณะที่ปีนี้ที่อุตสาหกรรมยานยนต์จะมีกำลังผลิตที่ 2.53  ล้านคัน  ก็เชื่อว่าความต้องการใช้แรงงานจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 คน 

ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน  เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนต้องปรับตัว หันไปเลือกใช้แรงงานระดับล่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่ามากขึ้น  และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนที่ 10-20% ของจำนวนแรงงาน

ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในระดับ ปวช.และ ปวส. รวมทั้งระดับปริญญาตรี ที่สถาบันการศึกษาผลิตนักศึกษาออกมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

 

ด้านนายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน  ก็ยอมรับว่า  ปัจจุบันปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในภาคอสังหาริมทรัพย์   มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการทดแทนประชากร  ทำให้คนหนุ่ม-สาววัยทำงานน้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้น ปัจจัยความไม่สอดคล้องเรื่องทักษะและประสบการณ์ของแรงงานกับความต้องการของตลาด รวมทั้งทัศนคติในเชิงลบ ของแรงงานไทยต่อการไม่ทำงานในลักษณะที่สกปรก อันตราย และยากลำบาก

ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน พัฒนาคนให้ทำงานได้มากขึ้น เพิ่มความสามารถในการทำงานในหลายๆด้าน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อลดจำนวนคนที่ใช้ในการทำงานให้น้อยลง การส่งเสริมอัตราการเกิดให้เพิ่มมากขึ้น 

ทั้งนี้  กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสถาบัน สมาคม ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างรวม 16 องค์กร เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานภาคก่อสร้างในสถานประกอบการ เพราะมีความพร้อมด้านศักยภาพของกำลังคน เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย  แต่ต้องยอมรับว่า คนไทยไม่นิยมทำงานก่อสร้าง ดังนั้นจำเป็นต้องนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานก่อสร้างแทน

 

 


LastUpdate 07/03/2556 21:49:18 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 12:25 pm