เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐบาลกู้ลงทุน 2 ล้านล้าน เพื่อประชาชน


การก่อหนี้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เริ่มใกล้ความเป็นจริงขึ้นมามากขึ้น เมื่อรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ประชาชนและทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว

โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บอกระหว่างการเป็นประธานงานเลี้ยงรับรองในพิธีเปิดนิทรรศการ “THAILAND 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก” เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนและนักลงทุนเกี่ยวกับรายละเอียดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน  เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ว่า

การลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ครั้งนี้ เพื่อทำให้ไทยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ หรือการขนส่งของไทย ในการเป็นศูนย์กลางเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะไทยถือเป็นจุดศูนย์กลางการขนส่ง และที่สำคัญทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก ปลอดภัย ประหยัด และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้นการลงทุนครั้งนี้ รัฐบาลมองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการลงทุนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงถึงแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งว่า รัฐบาลจำเป็นต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลัง จะเสนอคณะรัฐมนตรีได้ในวันที่ 12 หรือ 19 มีนาคมนี้ 

โดยการลงทุนตามแผนดังกล่าว 80% ของโครงการ จะเป็นการลงทุนระบบราง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ลง 2% หรือลดการสูญเสียเชื้อเพลิง 1 แสนล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 15.2% ของ GDP ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และภายใน 10 ปี จะสามารถคืนทุน และจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 5 แสนคนต่อปี

ส่วนกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง บอกว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นอกจากจะส่งผลดีให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยังส่งผลดีกับภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ต่อปีในช่วง 7-8 ปี ข้างหน้า และในบางปีเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 1.3-1.5% แม้จะส่งผลกระทบภาพลบบ้าง เช่น การทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นปีละ 0.16% และทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักร แต่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

ขณะที่ นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน.ยืนยันว่า การก่อหนี้เพื่อการลงทุนในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นไม่เกิน 50%ของจีดีพี  เนื่องจากเป็นการทยอยกู้ภายใน 7 ปี  และการก่อหนี้ดังกล่าวเป็นการกู้เพื่อการลงทุน เป็นหนี้ที่มีคุณภาพทำให้เกิดรายได้กลับคืนมา จึงไม่น่าเป็นห่วง ขณะที่สภาพคล่องในประเทศปัจจุบันถือว่าเหมาะที่จะกู้เงินมาลงทุน

นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. บอกว่า  สคร.ได้ผลักดันกฎหมายร่วมทุนรัฐและเอกชนฉบับใหม่ หรือ PPP และอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจานุเบกษา ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนคล่องตัวมากขึ้น และไม่เป็นหนี้สาธารณะเพิ่ม

แต่ขณะเดียวกัน นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลัง ก็ยอมรับว่า การลงทุนขนาดใหญ่เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชันสูง ดังนั้นการดำเนินการประมูล รัฐบาลต้องมีความโปร่งใส และควรเปิดให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ถึงขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งรัฐบาลควรนำโครงการทั้งหมดขึ้นเว็ปไซต์ ให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบรายละเอียดและความคืบหน้าของโครงการได้ตลอดเวลา

"นโยบายลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่ามากถึง  2 ล้านล้านบาท จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง อย่างที่รัฐบาลตั้งใจ ส่วนสำคัญอยู่ที่ความจริงใจในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล"นายคณิศกล่าวทิ้งท้าย

 
 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 มี.ค. 2556 เวลา : 16:08:50
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 12:46 pm