ฐานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปี 2556 แม้ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับความผันผวนต่างๆ ทั้งวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป และปัญหาการคลังของสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการธุรกิจในไทยก็ต้องประสบกับต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จากนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับราคาพลังงานของภาคธุรกิจ
โดย นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการพบปะกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ประจำปี 2556 เพื่อรับทราบแผนงานของธนาคารพาณิชย์ที่วางไว้ประจำปี พบว่า ฐานะการเงินและแนวทางการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ในขณะนี้อยู่ในระดับที่ดีมาก ยังคงมีการขยายสินเชื่อและเงินฝากได้อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งในปีที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีกำไรค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่นำกำไรไปกันสำรองหนี้เพิ่ม ทำให้เงินกองทุนของธนาคารแข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าในปีนี้ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใดที่จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุน เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อที่จะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้
โดยปีที่ผ่านมา เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ของธนาคารพาณิชย์สูงขึ้นมาอยู่ที่มากกว่า 16% สูงกว่าอัตราส่วนที่ ธปท.กำหนดที่ 8.5% ค่อนข้างมาก ดังนั้นตามแผนการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ที่เสนอมา ในช่วงต้นปีนี้ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใดมีเป้าหมายที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนในปีนี้
ส่วนฐานะการเงินของระบบธนาคารไทยเมื่อสิ้นปี 2555 ที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 14 ธนาคาร มีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยอยู่ที่ 16.27% โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีสัดส่วน BIS ratio อยู่ที่ 16.27% ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลาง 4 แห่ง มีสัดส่วน BIS ratio อยู่ที่ 16.11% และธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็ก 6 แห่ง มีสัดส่วน BIS ratio อยู่ที่ 16.51%
โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กมีสัดส่วนเงินกองทุนขึ้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงที่สุด 14.3% ตามมาด้วยธนาคารขนาดใหญ่ 10.87% และธนาคารขนาดกลาง 10.06%
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ที่ 2.44% ต่อสินเชื่อรวม โดยกลุ่มธนาคารขนาดเล็กเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนเอ็นพีแอลน้อยที่สุด 2.19% ส่วนธนาคารขนาดใหญ่อยู่ที่ 2.43% และธนาคารขนาดกลาง 2.61%
ข่าวเด่น