ปัญหาหนี้สาธารณะของไทยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น กำลังสร้างความกังวลให้กับนักเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหนี้สาธารณะของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น เพราะอาจทำให้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติได้เหมือนกับที่ประเทศในกลุ่มยูโรโซนกำลังเผชิญอยู่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าที่จะจบลงง่ายๆ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ตนเองมีความกังวลต่อหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 44 ต่อจีดีพี ในขณะที่รัฐบาล ไม่แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว แต่หากมองถึงการใช้จ่ายภาครัฐในหลายโครงการ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท โครงการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งนโยบายประชานิยมต่างๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีแนวโน้มขาดทุนเพิ่มขึ้น ปีละ 1.4-1.7 แสนล้านบาท จะส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 65.96 ในปี 2562
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่รัฐบาลดำเนินการ ซึ่งมีผลต่อหนี้สาธารณะ เช่น โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก จึงเห็นว่า รัฐบาลควรจะทบทวนและหยุดดำเนินโครงการบางอย่าง เช่น โครงการรับจำนำข้าว
สอดคล้องกับ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่แสดงความกังวลต่อการดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ว่า เป็นปัจจัยที่มีผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 44 ของจีดีพี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีหนี้ในส่วนอื่นๆ ที่รวมอยู่ด้วย และอาจทำให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต ถ้าหากรัฐบาลยังไม่ยอมรับหนี้ในส่วนอื่นๆ เช่น การเพิ่มทุนให้กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ทั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, SME BANK และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และยังเดินหน้าในการกู้เงินเพิ่ม มาใช้ในโครงการประชานิยมต่างๆ จะเป็นภาระหนี้ที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
ขณะที่ นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556 และแนวโน้มหนี้สาธารณะ 2556-2560 ว่า การมีหนี้สาธารณะเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับประเทศที่ยังมีฐานภาษีต่ำและต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในระบบความคุ้มครองทางสังคม ระบบสวัสดิการ แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงพื้นที่การคลังที่ต้องมีมากพอ เพื่อรองรับความจำเป็นในอนาคตหากมีการขาดดุล
ขณะที่ ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ กลุ่มบริหารความเสี่ยง สายงานบริหารความเสี่ยง บมจ.ธนาคารกรุงไทย ได้วิเคราะห์สาเหตุการเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรโซนว่า มาจาก
• การดำเนินนโยบายรัฐ สวัสดิการ และนโยบายประชานิยม เพื่อการแข่งขันทางการเมือง ทำให้หลายประเทศต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นภาระผูกพันกับงบประมาณต่อเนื่องมา
• รัฐบาลจัดเก็บรายได้ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การหลบเลี่ยงภาษี
และการเข้าเป็นสมาชิก Euro Zone ที่ทำให้การจัดเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกันลดลง ขณะที่การปรับขึ้นภาษีก็ได้รับการต่อต้านจากประชาชน
• การใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นมา ได้สร้างข้อจำกัดให้กับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อกระตุ้นการส่งออกของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศในยุโรปใต้ ที่มีฐานะและเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า
• ความพยายามในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก Euro Zone ของบางประเทศ เพื่อให้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำได้ง่ายขึ้น ทำให้มีการตกแต่งตัวเลข ให้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขในการเป็นสมาชิก และนำเงินกู้ยืมดังกล่าวไปใช้จ่ายเกินตัว โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในอนาคต ทำให้ภาระหนี้พอกพูนขึ้นจนเกินความสามารถในการชำระหนี้
• การขาดความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎข้อบังคับของ Euro Zone โดยเฉพาะการควบคุมหนี้สาธารณะให้ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของ GDP และขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ 3 ของ GDP ทำให้ปัญหาทางการคลังของแต่ละประเทศอยู่ในภาวะเรื้อรัง
เมื่อเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะต้นเหตุของวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่ไทยจะไม่เกิดวิกฤติขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับการบริหารจัดการของรัฐบาล
ข่าวเด่น