เมื่อเอ่ยถึง “โรคพาร์คินสัน” หลายคนอาจยังไม่รู้จักนัก แต่หากบอกว่า “โรคสั่นสันนิบาต” น่าจะเป็นที่รู้จักกันมากกว่า เพราะเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้มากอีกชนิดหนึ่ งและส่งผลกระทบต่อคุณภาพ การใช้ชีวิตค่อนข้างมาก ล่าสุดยังมีการศึกษาพบด้วยว่า ผู้ป่วยโรคนี้ยังมีอาการผิดปกติในการนอน อาจถึงขั้นนอนละเมอทำร้ายคนข้างเคียงหรือผู้ดูแลได้
ทั้งนี้ “โรคพาร์กินสัน” เป็นโรคทางระบบประสาทที่มีสาเหตุมาจากการเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวบริเวณก้านสมอง มีอาการให้เห็นอย่างชัดเจน คือ เคลื่อนไหวช้าและอาการสั่น ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวหรือบังคับไม่ให้สั่นได้ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยในช่วงอายุ 60 ปี ขึ้นไปในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 ราย แต่ปัจจุบันยังพบในกลุ่มคนมีอายุน้อยลงด้วยคือ ในช่วงอายุ 21-40ปี โดยพบในเพศชายและหญิงในสัดส่วนเท่าๆ กัน
เมื่อเร็ว ๆนี้ศูนย์พาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้ร่วมกับหน่วยประศาสตร์วิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหน่วยประสาทวิทยา กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้เปิดเผยผลการศึกษา NIGHT-PD study (ปัญหาอาการพาร์กินสันตอนกลางคืนกับการดูแลผู้ป่วย) ถึงสัญญาณเตือนภัยหรืออาการของโรคพาร์กินสันว่า
นอกจากจะเน้นกันที่เรื่องอาการสั่นและช้าแล้ว ต่อไปยังต้องมองอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เมื่อพบว่า มีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมากถึงร้อยละ 74.3 หรือ 3 ใน 4 ของคนไข้ทั้งหมด มีอาการผิดปกติตอนกลางคืน ที่พบบ่อยคือ ตัวแข็ง เกร็ง ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือพลิกตัวเอง และการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นอาการที่พบมากถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยพาร์กินสัน นอกจากนั้นยังมีอาการนอนละเมอ ซึ่งอาจทำร้ายตัวเองหรือผู้ดูแลได้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการนอนกรนจนมีภาวะหยุดหายใจ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในระยะยาว และทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี การทำงานในช่วงกลางวันจะแย่ตามไปด้วย
กล่าวได้ว่า อาการผิดปกติตอนกลางคืนจะส่งผลกระทบโดยตรงทั้งกับตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแลใกล้ชิด เพราะการนอนไม่เต็มที่จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงช่วงกลางวันทำให้ผู้ป่วยไม่สดชื่น ทำงานไม่ไหว และทำให้ผู้ดูแลไม่ได้พักผ่อนไปด้วย ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากปริมาณโดปามีนในสมองที่ลดต่ำลงในช่วงกลางคืน
นอกจากนี้การศึกษายังพบด้วยว่า ผู้ป่วยจะมีอาการท้องผูก แข็งเกร็งและเดินลำบากด้วย อีกทั้งพบโรคนี้ในกลุ่มคนอายุน้อยลงที่ประมาณ 20 ปี ถึง 30 ปีขึ้นไป ไม่ได้กำจัดเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยอีกต่อไป
ดังนั้นแม้ว่าในปัจจุบันโรคพาร์กินสันจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยจากคนใกล้ชิด ที่นับเป็นปัจจัยสำคัญมากในการรักษา ซึ่งจะต้องหมั่นสังเกต บันทึกอาการของผู้ป่วยในเวลากลางคืนและแจ้งอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ปรับการรักษาให้เหมาะสมกับอาการที่เกิดขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยและผู้ดูแล
นอกเหนือจากนั้นการพัฒนาระบบวินิจฉัยโรคที่ดี ได้ผลถูกต้องแม่นยำ ยังคงมีความสำคัญ เพื่อเปิดโอกาสในการรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งทางศูนย์พาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีผลงานทางด้านนี้เช่นกัน โดยได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเลคทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค (NECTEC) ประดิษฐ์และพัฒนาเครื่องหรืออุปกรณ์ตรวจวัดและโปรแกรมตรวจวัดและวิเคราะห์อาการสั่นขึ้น (Tremor Analysis) เพื่อช่วยตรวจพบผู้ป่วยโรคพาร์คินสัน โดยแยกแยะระหว่างอาการสั่นจากโรคนี้ออกจากอาการสั่นที่ยังสามารถพบได้ในโรคอื่นๆ เช่น โรคสั่นที่เกิดขึ้นเอง (essential tremor) หรืออาการสั่นที่เกิดจากกล้ามเนื้อเกร็ง (dystonic tremor)เป็นต้น
การพัฒนามุ่งหวังนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยวินิจฉัยโรค หลังจากปัจจุบันอาศัยอาการทางคลินิกเป็นหลัก ซึ่งทำให้เกิดความไม่แม่นยำในการวินิจฉัยโรคได้ เพราะบางครั้งอาการสั่นในกลุ่มโรคดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันมากทำให้แพทย์ทั่วไปไม่สามารถแยกแยะได้และส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสมตามมา
ในระบบประกอบด้วยชุดรับสัญญาณสำหรับสวมบนท่อนแขนและนิ้วมือ ซึ่งจะมีชุดตรวจจับการเคลื่อนไหวและบันทึกข้อมูลทั้งสามแนวแกน คือ ขึ้นและลง ซ้ายและขวา หน้าและหลัง และส่งข้อมูลแบบไร้สายผ่านบลูทูธไปยังคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งโปรแกรมวิเคราะห์อาการสั่นไว้ เพื่อบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป จากการนำเครื่องมือดังกล่าวทดสอบกับผู้ป่วย 24 รายของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการสั่นของมือเด่นในแนวแกนที่จำเพาะ แตกต่างจากอาการสั่นของมือในโรค essential tremor ซึ่งไม่มีทิศทางที่ชัดเจน
นอกจากนี้ศูนย์รักษาโรคพาร์กินสันฯ และเนคเทคยังต่อยอดการศึกษาพัฒนา “โปรแกรมบันทึกและวิเคราะห์การสั่นจากลายมือเขียน”ในผู้ป่วยที่มีอาการสั่น บนเครื่องแทบเล็ต ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ด้วย เพื่อบันทึกลายมือและสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการวิเคราะห์ต่อไปว่า ผู้ป่วยโรคพาร์คินสันและโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติอื่นๆ มีลายมือเขียน แตกต่างกันอย่างไร เพื่อนำมาเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการวินิจฉัยผู้ป่วย ร่วมกับการวิเคราะห์อาการสั่น
ถือเป็นอีกความพยายามวิจัยพัฒนาที่ดี ซึ่งประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ป่วย ทำให้ได้รับการรักษาที่ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
ข่าวเด่น