การตลาด
สกู๊ป : สมาคมศูนย์การค้าไทยเร่งวางกลยุทธรับมือต่างชาติบุก





จากแนวโน้มของทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558  ส่งผลให้สมาคมศูนย์การค้าไทยต้องรีบปรับตัว  เพื่อรับมือการแข่งขัน 
 
จากปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจค้าปลีกแล้ว 2 ชาติ  คือ ทุนอิออนจากประเทศญี่ปุ่น ลงทุนซูเปอร์มาร์เก็ตอิออน  ทุนจากเนเธอร์แลนด์ ลงทุนศูนย์การค้าพรอมเมนาดา  และทุนจากสวีเดน ลงทุนศูนย์การค้าเมกะ บางนา

กลยุทธที่สมาคมศูนย์การค้าไทยจะนำมาเป็นแหล่งกำบังการแข่งขันที่กำลังจะเพิ่มขึ้นนั้น  นอกจากจะมีการรวบรวมข้อมูลต่างของเหล่าบรรดาสมาชิก 10 รายแล้ว ยังมีการหาข้อมูลสนับสนุนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นตัวเสริมในการศึกษาแผนการดำเนินงาน

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดประเภทศูนย์การค้าเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ทำให้การพัฒนาและบริหารงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว  ด้วยการแบ่งศูนย์การค้าออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วย
 
1.Regional Mall และ Super Regional เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มีพื้นที่ให้เช่าตั้งแต่ 40,000-100,000 ตร.ม. ขึ้นไป ครอบคลุมกำลังซื้อ 400,000 คนขึ้นไป อาจมีห้างสรรพสินค้า หรือไม่มี ซึ่งในประเทศไทยมีศูนย์การค้านี้มากที่สุด  เช่น  เดอะมอลล์, เซ็นทรัล  และฟิวเจอร์ พาร์ค  
 
2.Mega Mall เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ มี Theme Concept ของศูนย์ที่ชัดเจน อาจมีหรือไม่มีห้างสรรพสินค้าก็ได้ แต่จะมี anchor หรือผู้เช่ารายใหญ่เป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า มีพื้นที่ให้เช่าตั้งแต่ 260,000 ตร.ม.ขึ้นไป ครอบคลุมกำลังซื้อ 1,000,000 คน  เช่น เมกะ บางนา,สยามพารากอน และเซ็นทรัลเวิลด์    

3.Community Mall และ Neighborhood Mall ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการในปัจจุบัน มีพื้นที่ให้เช่าตั้งแต่ 5,000-40,000 ตร.ม. มีห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กอย่างน้อย 1 ห้าง หรืออย่างน้อยต้องมี Super market ครอบคลุมกำลังซื้อ 5,000-200,000 คน ขึ้นกับขนาดของโครงการ ซึ่งกำลังซื้อมักอาศัยอยู่ในบริเวณรัศมี 4-6 กิโลเมตร จึงมักเห็น Community Mall ท่ามกลางโครงการหมู่บ้าน และอาจบริหารโดย Residential Development  เช่น โครงการอะเวนิว

4.Specialty Mall เป็นศูนย์การค้าที่มีลักษณะธุรกิจเฉพาะมีพื้นที่ตั้งแต่ 5,000-37,500 ตร.ม. มักไม่มีห้างสรรพสินค้า หรือ Super market ครอบคลุมกำลังซื้อ 1,000-150,000 คน เช่น  แพลทินั่ม  
 
5.Luxury Mall เป็นศูนย์การค้าที่เจาะกลุ่ม Hi End ประกอบด้วย ร้านค้าแบรนด์หรูหรา แบรนด์เนมระดับโลก หรือ Top Brand ในเมืองไทย มักสร้างติดกับโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ดึงดูดนักท่องเที่ยว และลูกค้า A+  เช่น เซ็นทรัล เอ็มบาสซี  และ ดิ เอ็มโพเรียม

นอกจากนี้ สมาคมศูนย์การค้าไทยยังมีแผนที่จะเสนอแนวทางขอการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่างๆ จำนวน 3 ข้อ ประกอบด้วย 
 
1.ให้รัฐเข้ามาสนับสนุนการลงทุนอาคารประหยัดพลังงาน ทั้งศูนย์การค้าเก่าและใหม่ เพราะการลงทุนอาคารดังกล่าวค่อนข้างสูง  
 
2.ให้ภาครัฐเข้ามาดูแลในเรื่องของอัตราภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม  เพราะปัจจุบันกำแพงภาษียังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้ราคาขายสินค้าแบรนด์เนมยังไม่สามารถสู้คู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านได้  
 
3.ให้รัฐเข้ามาสนับสนุนระบบสาธารณูปโภค เช่น สกายวอร์ค รถไฟฟ้าให้เชื่อมต่อเข้าภายในศูนย์การค้า และป้ายรถเมล์  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

ขณะเดียวกัน สมาคมศูนย์การค้าไทย ยังมีแผนที่จะจัดงาน "The 1st Thailand Shopping Center Symposium" เพื่อขยายองค์ความรู้ธุรกิจศูนย์การค้า และเชิญชวนผู้ประกอบการอื่นๆ มาร่วมเป็นสมาชิก และกำหนดทิศทางธุรกิจในปีหน้า ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ ณ บีซีซี ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 15 ปีสมาคมศูนย์การค้าไทยที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี  2541

ปัจจุบันจำนวนศูนย์การค้าในกลุ่มสมาชิก 10 ราย มีทั้งหมดประมาณ 74 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งหากนำมาเทียบกับอัตราส่วนของประชากรทั้งประเทศจะอยู่ที่ 1 แห่งต่อประชากรเฉลี่ยที่ 900,000 คน ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสให้ขยายธุรกิจได้อีกมาก เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่ศูนย์การค้า 1 แห่งเฉลี่ยต่อประชากร 43,000  คน

จากการขยายตัวของศูนย์การค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี  โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า ภายในอีก 5 ปีนับจากนี้ น่าจะมีมูลค่าการลงทุนศูนย์การค้าไม่ต่ำกว่า 120,000  ล้านบาท ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะมีศูนย์การค้าในกลุ่มสมาชิกเปิดให้บริการอยู่ไม่ต่ำกว่า 100  แห่งทั่วประเทศ จากปัจจุบันมี 74 แห่งทั่วประเทศ  หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 แห่ง

 
 
 
นายนริศ  เชยกลิ่น นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย  กล่าวว่า การแข่งขันที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการศูนย์การค้าไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะจากเดิมประชากรของไทยมีอยู่กว่า 60 ล้านคน  แต่หลังจากเปิดเออีซีจะมีประชาเพิ่มเป็น 600 ล้านคน ซึ่งไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุน

ดังนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้ คือ ความพร้อม  หากมีทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นผู้ประกอบการจะทำอย่างไร  ซึ่งช่วงนี้จีนอาจจะแผ่วๆ ในเรื่องของการลงทุนในต่างประเทศ  เพราะยังมีปัญหาภายในประเทศ  แต่ถ้าสามารถแก้ไขปัญหาได้คาดว่าจะเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนนี้อย่างแน่นอน 

ปัจจุบันสมาคมศูนย์การค้าไทยมีสมาชิกทั้งหมด 10 ราย ประกอบด้วย บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน), เดอะมอลล์กรุ๊ป,บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ,บริษัท เดอะแพลทินั่ม แฟชั่นมอลล์ จำกัด, บริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด,บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน),บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน),บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด และ บริษัท สยามพิวรรธน์ กรุ๊ป จำกัด

LastUpdate 17/03/2556 11:48:15 โดย : Admin
24-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 24, 2024, 12:10 am