"ไซปรัส" หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ สาธารณรัฐไซปรัส (เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก เศรษฐกิจของประเทศไซปรัสมีความหลากหลายและมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตามประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ประมาณการไว้ว่า จีดีพีต่อหัวของไซปรัสน่าจะอยู่ที่ประมาณ 28,381 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มสหภาพยุโรป
แต่วิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในยุโรป ได้ส่งผลกระทบต่อไซปรัสอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และในที่สุด ไซปรัสก็เป็นประเทศที่ 5 ในกลุ่มยูโรโซน ต่อจากกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน ที่ต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกในกลุ่ม นับแต่เกิดวิกฤติหนี้สินในปี 2553 โดยยื่นขอความช่วยเหลือเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 แต่เพิ่งได้เจรจากันช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในที่สุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็มีมติอนุมัติเงินกู้ 10,000 ยูโร หรือราว 385,000 ล้านบาท ให้กับไซปรัส เพื่อให้หลุดพ้นจากภาวะล้มละลาย โดยเงื่อนไขของโครงการให้กู้ยืมเงินฉุกเฉินครั้งนี้ ไซปรัสยอมตกลงจะปรับเพิ่มอัตราภาษีนิติบุคคลอีกร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 12.5 รวมถึงเก็บภาษีเงินฝากที่ไม่ถึง 100,000 ยูโร ในอัตราร้อยละ 6.75 และที่มากกว่า 100,000 ยูโร ในอัตราร้อยละ 9.9 และจะคิดภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากด้วย
ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวในที่สุดก็มีการทบทวน เพื่อบรรเทาความไม่พอใจของประชาชนในประเทศ แม้รัฐบาลไซปรัสจะยกเลิกการเก็บภาษีบัญชีเงินฝาก แต่ยังคงการจัดเก็บภาษีร้อยละ 6.75 สำหรับบัญชีเงินฝากตั้งแต่ 20,000 - 100,000 ยูโร และร้อยละ 9.9 สำหรับบัญชีเงินฝากที่มีมากกว่า 100,000 ยูโร
และในที่สุดรัฐสภาไซปรัสที่ประกอบด้วยสมาชิก 56 ราย ได้ลงมติไม่เห็นชอบร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีเงินฝากดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 36 เสียง โดย 19 รายงดออกเสียง แม้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าว แต่มาตรการดังกล่าวก็ยังเผชิญกับการต่อต้านจากพรรคฝ่ายค้านและแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเอง
ส่วนนักวิเคราะห์ก็มองว่า การลงคะแนนเสียงดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจของไซปรัสตกอยู่ในภาวะอัมพาต เพราะไซปรัสจำเป็นจะต้องหาเงินจำนวน 15,800 ล้านยูโร เพื่ออุ้มภาคธนาคาร และจำเป็นต้องหาเงินเข้าคลังด้วย ถ้าหากไซปรัสไม่สามารถหาเงินเข้ามาเพิ่มได้ ระบบการคลังของไซปรัสจะต้องอยู่ในภาวะล้มละลายหลายปี และอาจถูกบีบให้ออกจากกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร
สถานการณ์ในไซปรัสที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ซึ่งไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากตลาดหุ้นที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา และค่าเงินบาทก็ปรับแข็งค่าขึ้นเกือบไปแตะที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และยังสะท้อนให้เห็นว่า วิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นมานานกว่า 4 ปีแล้ว ยังไม่มีทีท่าที่จะจบลงได้ง่ายๆ
ข่าวเด่น