เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สกู๊ป : ลดดอกเบี้ยนโยบาย แก้ "บาทแข็ง" ได้จริงหรือ?


 


 
 
 
ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จนสร้างสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปี เมื่อวันที่ 20  มีนาคม ที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 29.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ   ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับรัฐบาลและภาคเอกชนที่ต้องเผชิญกับความผันผวนที่เกิดขึ้น
 
 
 
 
โดยเฉพาะ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ยังหวังว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 3 เมษายน  จะเปลี่ยนมุมมองจากเดิม เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงผิดปกติ นำมาซึ่งปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศ ทำให้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก
 
 
แต่ปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่า การดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง โดยการใช้นโยบายการเงินหรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียว ทำได้ยากขึ้น ซึ่งจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ พบว่า มาตรการที่ทาง ธปท.อาจจะนำมาดูแลค่าเงินบาทนั้น คือ 1.การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท 2.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 3.มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า และ 4.ปล่อยไปตามกลไกตลาด  

 
 
 
สำหรับวิธีการแทรกแซงค่าเงินบาท  ธปท.จะดำเนินการในระดับหนึ่ง เนื่องจากการเข้าไปแทรกแซงจะทำให้ ธปท. มีต้นทุน และตั้งแต่การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในปี 2551 ทาง ธปท.ก็ขาดทุนจากการเข้าไปแทรกแซงแล้ว 5.3 แสนล้านบาท
 
ส่วนวิธีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็ทำได้ยาก เนื่องจากการลดดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้รับประกันว่าเงินทุนจากต่างประเทศนั้นจะไม่ไหลเข้าไทย  นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย ก็ทำให้ฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ เติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว      
 
ส่วนวิธีการควบคุมเงินทุนไหลเข้านั้น เชื่อว่า ธปท.คงไม่ดำเนินมาตรการ เนื่องจากมีบทเรียนมาแล้วจากในอดีต ที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับลดลงมากกว่า 100 จุด

ดังนั้นมาตรการทางด้านภาษีของกระทรวงการคลัง เพื่อเพิ่มต้นทุนให้กับเงินทุนไหลเข้านั้น ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่จะช่วยบรรเทาการแข็งค่าของค่าเงินบาท แต่รัฐมนตรีคลังก็ยืนยันว่าจะไม่มาตรการทางการคลัง ที่จะกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ

 

ด้านภาคเอกชนก็ยอมรับว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดย นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยเสนอมาตลอดถึงการดูแลค่าบาทว่า รัฐต้องเข้าไปแทรกแซงพยุงไม่ให้เงินบาทแข็งค่าผันผวนเร็ว และเปอร์เซ็นต์การแข็งค่าไม่ให้มากเกินคู่แข่งมากนัก ตอนนี้บาทแข็งค่าแล้ว 3.5% ขณะที่ประเทศคู่แข่งในกลุ่มสินค้าเดียวกันอย่างเวียดนามเงินอ่อนลง หรือจีนค่าเงินทรงตัว นั่นหมายถึ งสินค้าไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่งแล้ว 3-4% ก็แข่งขันได้ยาก

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรต้องมีการควบคุมไม่ให้เงินไหลเข้าระยะสั้นเพื่อมาเก็งกำไร ควรให้เงินไหลเข้า แล้วออกช้าลง  โดยการเก็บภาษีเงินไหลเข้าออกระยะสั้น ซึ่งจะช่วยลดการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้  และน่าจะคุมเงินลงทุนระยะสั้นไม่น้อยกว่า 6 เดือน   

         

ส่วน บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2556 จากระดับ 30.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาเคลื่อนไหวบริเวณ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการแข็งค่าที่ผ่านมานั้นถือว่าเร็วผิดปกติ หากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์แข็งค่า 0.05%   ขณะที่ค่าเงินริงกิตและรูเปียอ่อนค่าลดลง 1.79% และ 1.08% ตามลำดับ

จนขณะนี้ต้องยอมรับว่า แนวทางการดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว  คงต้องประสานระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง จะใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คงทำให้สำเร็จได้ยาก 

LastUpdate 26/03/2556 15:19:27 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 1:07 pm