เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนายหทัย อู่ไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 56 หรือในช่วงเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ ผู้ประกอบการส่งออกไทยสูญเสียรายได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 4.05% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แล้วประมาณ 35,733 ล้านบาท
โดยอุตสาหกรรมยานยนต์มีสัดส่วนในการสูญเสียรายได้มากสุด 4,758 ล้านบาท รองลงมาเป็นคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน 3,516 ล้านบาท และหากค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ในระดับ 29.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าผู้ส่งออกไทยจะสูญเสียรายได้ 232,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2556 ลดลงร้อยละ 2.72 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 6 จะเหลือร้อยละ 3.28
ด้านประธานกรรมการหอการค้าไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ กล่าวถึงกรณีปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ขณะนี้ว่า ทางคณะกรรมการหอการค้าชุดใหม่อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าในอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ยังถือว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่หากผันผวนเกินกว่าประเทศเพื่อนบ้านถือว่าเป็นเรื่องอันตราย โดยภาครัฐควรส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวรับสถานการณ์
ขณะที่นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 17,928ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะ เศรษฐกิจสหรัฐกลุ่มประเทศยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดหลักยังชะลอตัว
โดยการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรลดลง 13.5 % ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญอย่างข้าวลดลง 20.2 % ยางพาราลดลง11%อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ลดลง 1.5 %ทำให้การส่งออก 2เดือนแรกของปีนี้การส่งออกภาพรวมมีมูลค่า36,197ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น4.09 %
แต่เชื่อว่าในเดือนมีนาคมการส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากผลผลิตของสินค้าเกษตรที่จะมีมากขึ้นและคาดว่าค่าเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าไปมากกว่านี้ แม้เดิมจะตั้งสมมติฐานค่าเงินบาทไว้ที่30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแต่ค่าเงินบาท ที่ประมาณ 29บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้นยังสามารถผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวได้8-9 % ตามเป้าหมาย
ซึ่งกระทรวงจะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการส่งออกร่วมกับทูตพาณิชย์อีกครั้งในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ รวมทั้งจะหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ในวันที่ 9 เมษายน เพื่อร่วมกับประเมินถึงภาพรวมและอุปสรรคต่อการส่งออก
ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ ที่เติบโตเพียง 5.83% เป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนวันทำการที่น้อยกว่าในเดือนอื่นๆ ผลของฐานเปรียบเทียบในปี 2555 ที่เป็นช่วงที่เร่งฟื้นตัวจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ส่วนในเดือนมีนาคมคาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญของไทย เช่นจีน และญี่ปุ่น แต่ยังต้องติดตามทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และการตัดสินใจรับคำสั่งซื้อของผู้ส่งออกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ข่าวเด่น