เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รายงาน "เงินเฟ้อ" ส่งสัญญาณทรงตัว




 

"เงินเฟ้อ" ในเดือนมีนาคมมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง  โดยอยู่ที่ 104.73 สูงขึ้น 0.07% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และสูงขึ้น 2.69% เทียบกับ มี.ค.2555  หลังจากที่ในรอบปีนี้ เงินเฟ้อขยายตัวสูงกว่าระดับ 3% มาแล้ว 2 เดือน ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2556 (ม.ค.-มี.ค.) สูงขึ้น 3.09% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

นางวัชรี  วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในช่วงขาลง เพราะรัฐบาลได้ต่ออายุมาตรการลดครองชีพให้ประชาชน ทั้งรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี ถึงเดือน ก.ย.2556  โดยคาดว่า ไตรมาส 2 เงินเฟ้อจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.1% และทั้งปีเงินเฟ้อจะขยายตัวไม่เกินระดับที่คาดการณ์เอาไว้ คือ 2.8-3.4% ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 100-120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 28.5-32.5 บาท/เหรียญสหรัฐ

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้ออาจทรงตัวในช่วงหลายเดือนข้างหน้าตามภาวะการบริโภคที่ไม่น่าจะเร่งตัวขึ้นเหมือนในช่วงหลายเดือนก่อน ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในตัวแปร ที่ทำให้การส่งผ่านแรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการมาที่ภาพรวมราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงทำได้ค่อนข้างจำกัด

ส่วนทิศทางเงินเฟ้อในช่วงระหว่างเดือน เม.ย. 2556 อาจขยับขึ้นตามราคาสินค้าในหมวดอาหารสดที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศที่ร้อนแล้ง  แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็คาดว่า อัตราเงินเฟ้อไทยในเดือนเม.ย. 2556 ไม่น่าจะเร่งตัวขึ้นสูงกว่าระดับร้อยละ 2.69 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2556 มากนัก เนื่องจากกำหนดการของแนวทางการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และมาตรการดูแลภาวะค่าครองชีพประชาชนด้านการเดินทางของภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขยายเวลาสำหรับมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง ทั้งรถเมล์-รถไฟฟรี ออกไปอีก 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2556 ขณะที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก็ได้เลื่อนเวลาการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ออกไป 2 เดือน เนื่องจากการสำรวจฐานข้อมูลเพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ผู้มีรายได้น้อยยังไม่แล้วเสร็จ โดยราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน จะตรึงไว้ที่ระดับเดิมต่อไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.2556

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อไทยในปี 2556 เคลื่อนจากกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 3.3  เข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการที่ร้อยละ 3.0-3.6 และสถานการณ์เงินเฟ้อไทย ณ ขณะนี้ น่าจะเอื้อให้ ธปท.ยังคงมีเวลาในการรอประเมินความต่อเนื่องของโมเมนตั้มเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางหลายตัวแปรความเสี่ยงในระยะข้างหน้า

ทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่มีสัญญาณดีขึ้น จะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 3 เม.ย.นี้ หรือไม่ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงหรือไม่  เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 เม.ย. 2556 เวลา : 11:43:42
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 12:35 pm