สุขภาพ
เตือนไวรัสมรณะใหม่.....ร้ายกว่า "ซาร์ส"












 

 

หลังจากมีรายงานการติดเชื้อไวรัสที่ไม่มีใครรู้จักครั้งแรกในชายชาวกาตาร์ที่เคยเดินทางไปซาอุดิอารเบีย ตามด้วยการเสียชีวิตของชายวัย 60 ปี สัญชาติซาอุดิอารเบียช่วงต้นปี 2012 ที่เชื่อว่า เสียชีวิตจากไวรัสชนิดเดียวกัน จนในเดือนกันยายนปีเดียวกันหรือเมื่อ 6 เดือนก่อน นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบไวรัสใหม่คล้ายซาร์สในกลุ่มโคโรนาไวรัสอยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตดังกล่าวและค่อยๆไขปริศนาไวรัสมรณะดังกล่าวเพิ่มขึ้น

โดยล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ในฮ่องกง เปิดเผยผลการศึกษาใหม่ว่า มันเป็นไวรัสที่ร้ายกาจยิ่งกว่าไวรัสโรคซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) เสียอีก

ศาสตราจารย์ ยูน กวอค-ยุง นักจุลชีววิทยาประธานหน่วยงานโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยฮ่องกงของจีน เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ว่า ผลการศึกษาใหม่ พบว่า ไวรัสมรณะดังกล่าวมีความแตกต่างและร้ายกาจยิ่งกว่า ไวรัสโรคซาร์สเสียอีก โดยส่งผลกระทบต่อหลายอวัยวะ เซลล์หลายชนิด และฆ่าเซลล์ได้อย่างฉับไว จึงทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ไวรัสซาร์สสติดต่อเซลล์มนุษย์ได้น้อยชนิดกว่ามาก

สิ่งที่น่ากังวลคือ ศาสตราจารย์ยูนเชื่อว่า หากไวรัสมรณะนี้มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่องอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ได้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอังกฤษเชื่อว่า พวกเขาค้นพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้

องค์การอนามัยโลก(WHO) เปิดเผยว่า นับจากเดือนกันยายนปีที่แล้วมีผู้ติดเชื้อรวม 17 คนและมียอดผู้เสียชีวิตทั่วโลก 11 รายแล้ว และส่วนใหญ่ติดต่อเชื่อมโยงกับตะวันออกกลาง โดยเพิ่งคร่าชีวิตชาวอังกฤษเป็นรายที่ 2 ซึ่งมีประวัติเคยเดินทางไปซาอุดิอารเบียและปากีสถานเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งของอังกฤษ เป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับที่มีชายวัย 73 ปีจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เสียชีวิตจากไวรัสดังกล่าวเมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา หลังถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเมืองมิวนิคของเยอรมนี  

ส่วนแหล่งที่มาของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังไม่มีใครรู้ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า มันมีที่มาจากค้างคาว

    

ส่วนสัตว์อื่น ๆ ที่อาจเป็นแหล่งที่สิงสถิตย์ของไวรัสดังกล่าวยังรวมไปถึงลิง หมู และแม้แต่กระต่าย

สำหรับอาการของการติดเชื้อโคโรนาไวรัสนั้นมีหลายอย่าง โดยแพทย์เชื่อว่า มันสามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อและทำให้มีภาวะหายใจลำบาก เป็นไข้ ไอ มีอาการปอดอักเสบและยังส่งผลกระทบไตด้วย

ณ เวลานี้ WHO จึงสนับสนุนให้รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเฝ้าระวังการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงอย่างใกล้ชิดและโดยเฉพาะเมื่อพบความผิดปกติเกิดขึ้น

ต่างจากทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ไม่ได้เสนอแนะสิ่งใดเป็นพิเศษ เช่น การตั้งด่านคัดกรองพิเศษเพื่อตรวจหาไวรัสดังกล่าว หรือแม้แต่แนะนำให้มีมาตรการเข้มงวดเรื่องการเดินทางและด้านการค้ามาใช้เหมือนเมื่อครั้งที่มีการระบาดของโรคซาร์สในปี 2003 ที่เริ่มจากเอเชียก่อนแพร่ระบาดไปทั่วโลกและทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 800 คน

ท่าทีที่แตกต่างของทั้ง 2 หน่วยงานอาจสร้างความสับสนอยู่บ้าง แต่การยึดหลักความไม่ประมาทและป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่า โดยนำหลักปฏิบัติเดิม ๆ คือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” กลับมาใช้ได้เสมอ

 


LastUpdate 05/04/2556 15:19:48 โดย : Admin
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 6:32 pm