จากการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจดิสเคาน์สโตร์ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องออกมาทำกิจกรรมทางการตลาด และเดินหน้าขยายสาขาใหม่มากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีคู่แข่งเพียง 2 รายหลัก คือ "บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต" และ "เทสโก้ โลตัส" แต่ทำเลทองที่มีศักยภาพที่หาได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนรุกหันมาปรับรูปแบบสาขาใหม่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
ปัจจุบัน ห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ มีรูปแบบสาขาเปิดให้บริการทั้งหมด 4 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ 114 สาขา รูปแบบจัมโบ้ 1 สาขา รูปแบบบิ๊กซีมาร์เก็ต 19 สาขา และ รูปแบบมินิบิ๊กซี 158 สาขา นอกจากนี้ ยังมีร้านขายยา ภายใต้ชื่อ "เพียว" ที่เปิดให้บริการอยู่ในสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตอีกประมาณ 95 สาขา และช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ของบิ๊กซีฯ ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของบิ๊กซีฯในปีนี้ ยังคงเดินหน้าเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการปรับปรุงสาขาเก่าทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้มีความทันสมัยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ซึ่งจากการแข่งขันที่รุนแรงและธุรกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปีนี้บิ๊กซีฯ ขอทุ่มงบสูงถึง 7,000-8,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเปิดสาขาใหม่ และลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ในปีนี้
นายประพันธ์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองประธานผู้บริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งบประมาณที่บริษัทเตรียมไว้ในการเปิดสาขาใหม่และสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ในปีนี้ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ถือเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากทุกปีที่ผ่านมาที่จะใช้งบลงทุนเพียง 4,000-5,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทต้องการเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ในส่วนของสาขาใหม่ที่บิ๊กซีฯ จะเปิดให้บริการในปีนี้ ประกอบด้วย รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 6 สาขา รูปแบบ บิ๊กซีมาร์เก็ต 13 สาขา มินิบิ๊กซี 150 สาขา และร้านเพียว 50 สาขา ขณะที่รูปแบบบิ๊กซีจัมโบ้ในปีนี้ยังไม่มีแผนที่จะเปิดให้บริการเพิ่ม เนื่องจากห้างค้าปลีกในรูปแบบดังกล่าว ทำตลาดยากกว่ารูปแบบอื่นๆ บิ๊กซีฯจึงขอเน้นการเปิดสาขาใหม่เฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซีมาร์เก็ต มินิบิ๊กซี และร้านเพียวเท่านั้น
สำหรับทำเลที่บิ๊กซีฯ จะเน้นเปิดสาขาใหม่ คือ ตลาดต่างจังหวัด เนื่องจากทำเลในกรุงเทพฯหายากและติดข้อกฎหมายในด้านการขออนุญาตผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ต้องเน้นการขยายสาขาในตลาดต่างจังหวัดเป็นหลัก เพราะยังมีช่องว่างให้เข้าไปทำตลาดอีกมาก โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองใหญ่ และจังหวัดใกล้แนวชายแดน เนื่องจากสามารถขยายฐานลูกค้าครอบคลุมถึงประเทศเพื่อนบ้าน
นายประพันธ์กล่าวว่า แม้ว่าทำเลในกรุงเทพฯจะหายากขึ้น แต่ล่าสุดบริษัทได้ทำเลดีของกรุงเทพฯ เพื่อเปิดให้บริการห้างบิ๊กซีฯในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตได้จำนวน 1 สาขา คาดว่าจะพร้อมก่อสร้างและเปิดให้บริการภายในปี 2557
ปัจจุบันรูปแบบห้างของบิ๊กซีฯมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม สังเกตอย่างเห็นได้ชัดจากรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งปัจจุบันปรับขนาดลดลงเหลือ 4,000-6,000 ตร.ม. จากเดิมที่จะใช้พื้นที่ 10,000 ตร.ม.ขึ้นไป เพราะหาพื้นที่ยากขึ้น ขณะที่รูปแบบบิ๊กซีจั้มโบ้ ใช้พื้นที่ 10,000 ตร.ม. บิ๊กซี มาร์เก็ต 1,000 ตร.ม.ขึ้นไป และ มินิบิ๊กซี 300 ตร.ม.
จากจำนวนสาขาที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บิ๊กซีฯ ต้องหันมาสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะรูปแบบมินิบิ๊กซี ซึ่งจะเป็นรูปแบบหลักในการบุกทำตลาดนับจากนี้ เพราะนอกจากจะมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายตามแหล่งชุมชนแล้ว ยังจะมุ่งเน้นนำร้านมินิบิ๊กซีเข้าไปเปิดให้บริการภายในปั้มน้ำมันบางจากอีกด้วย ภายหลังทดลองเปิดให้บริการไป 10 สาขา ได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี
สำหรับ ปีนี้บิ๊กซีฯ มีแผนที่จะนำร้านมินิบิ๊กซี เข้าไปเปิดให้บริการในปั้มน้ำมันบางจากประมาณ 50-70 สาขา ซึ่งถือเป็นการขยายตัวตามปั้มน้ำมันบางจาก ที่จะเปิดตัวปั้มน้ำมันใหม่เพิ่มขึ้นทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง จากการเดินหน้าเปิดสาขาใหม่ในช่องทางดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บิ๊กซีฯคาดว่าในภายในปี 2559 จะมีจำนวนสาขาครบ 950 สาขา
นายประพันธ์ กล่าวว่า ร้านมินิบิ๊กซี ที่เปิดให้บริการจะมีด้วยการ 2 ขนาด คือ ร้านค้าชุมชนขนาด 200ตร.ม. จะเน้นเปิดให้บริการในปั้มน้ำมันที่อยู่ในย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่น มีสินค้าที่นำมาให้บริการทั้งหมด 4,800 รายการ ขณะที่ร้านขนาด 150 ตร.ม. จะเน้นเปิดให้บริการในปั้มน้ำมันที่อยู่บนถนนไฮเวย์ มีสินค้าให้บริการจำนวน 3,800 รายการ
จากจุดเด่นของร้านมินิบิ๊กซี ที่มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ประจำวัน รวมไปถึงกลุ่มสินค้าอาหารสดที่ร้านสะดวกซื้อทั่วไปไม่มี และมีการทำโปรโมชั่นราคาเช่นเดียวกับบิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต มีบริการชำระบิล และเติมเงินมือถือ จึงทำให้ ร้านมินิบิ๊กซี ได้ผลการตอบรับที่ดีจากลูกค้า
ในด้านของศูนย์กระจายสินค้า ที่จะดำเนินการก่อสร้างในปีนี้ จำนวน 2 สาขานั้น จะตั้งอยู่ทางกรุงเทพฯด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นทำเลที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม เมื่อเทียบกับ 4 ศูนย์กระจายสินค้าที่เปิดดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวังน้อย บางใหญ่ บางบัวทอง และ บางปะอิน
นายประพันธ์กล่าวต่อว่า ศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ทั้ง 2 แห่ง บริษัทคาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในก้อนเดียวกับงบลงทุนรวมในปีนี้ โดยในส่วนของคลังสินค้าคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการได้ภายในปีหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวของสาขาใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง บิ๊กซีฯ คาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 9-10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.12 แสนล้านบาท
ข่าวเด่น