เรื่องของเครดิตบูโรวันนี้ที่ผมอยากนำเสนอแก่ท่านผู้อ่านทุกท่านให้ได้ทราบ แม้เป็นเรื่องทางเทคนิคไปบ้างแต่ก็เป็นสิ่งที่เราๆ ท่านๆ อาจจะประสบกับตัวเองได้ และอีกประการหนึ่งก็คือผมได้ไปออกรายการตอบคำถามทางช่องทีวีดาวเทียมแห่งหนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้ชมทางบ้านถามเข้ามาในรายการ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าจะนำมาเผยแพร่ให้ได้เกิดความเข้าใจโดยทั่วกัน เรื่องมีดังนี้คือ
1. คำถามและข้อเท็จจริงจากตัวเจ้าของข้อมูล : ดิฉันเคยมีหนี้สินเชื่อบัญชีหนึ่งกับธนาคารต่างประเทศ ต่อมาหมุนเงินไม่ทันเกิดการค้างชำระขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี ไม่มีการติดต่อกับธนาคารใดๆ เลย เรียกว่าไม่จ่ายหนี้ที่มีอยู่ ธนาคารต่างประเทศได้ขายหนี้ที่มีบัญชีสินเชื่อรายการนี้ของดิฉันรวมอยู่ด้วยออกไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์แห่งหนึ่งหรือที่ธนาคารมักเรียกว่า "ขายหนี้ออกไปให้กับ AMC" นั่นเอง เมื่อดิฉันได้รับการติดต่อจาก AMC ในเรื่องหนี้ที่ค้างอยู่และทำการเจรจาการชำระหนี้ จนที่สุดทาง AMC ก็ลดหนี้ให้ส่วนหนึ่ง ดิฉันพอจะมีเงินรวบรวมมาได้จึงตัดสินใจชำระหนี้กับ AMC ในบัญชีของดิฉันที่เขาได้ซื้อมาจากธนาคารต่างประเทศเมื่อต้นปี 2556 ที่ผ่านมา ดิฉันได้เอกสารการรับชำระและเอกสารการปิดบัญชีจาก AMC และยังเก็บเอกสารการโอนเงินที่ตัวเองโอนให้กับ AMC รายนั้นไว้อยู่จนทุกวันนี้
ต่อมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2556 ดิฉันไปขอสินเชื่อบ้านกับธนาคารของรัฐแห่งหนึ่ง ผลออกมาว่าปฏิเสธการให้สินเชื่อ และได้รับแจ้งว่าเหตุเพราะในรายงานเครดิตบูโรของดิฉันในบัญชีที่ดิฉันเคยมีกับธนาคารต่างประเทศนั้นมีสถานะบัญชีหรือ Account status "แสดงรหัสว่า 42 โอนหรือขายหนี้ให้กับนิติบุคคลอื่นหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์" ประกอบกับในประวัติการชำระหนี้ของบัญชีนั้นช่วงเวลาก่อนหน้าเดือนที่มีการโอนขายหนี้นั้นได้แสดงรายการค้างชำระหนี้เกินกว่า 300 วัน ดิฉันต้องทำอย่างไร ต้องชี้แจงกับธนาคารของรัฐนั้นอย่างไร เขาจึงจะเข้าใจเรื่องที่แท้จริงและอยากให้เขาช่วยพิจารณาสินเชื่อบ้านอีกครั้ง อยากให้ธนาคารเข้าใจว่าตัวเองได้กลับเนื้อกลับตัวแล้ว ปัจจุบันมีรายได้ต่อเดือนเกือบ 40,000 บาท ไม่มีหนี้ที่ไหนแล้ว อยากได้โอกาสอีกครั้ง
2. ผมวิเคราะห์ได้เป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
2.1 ลักษณะที่เกิดเรียกว่า เป็นคนเคยค้าง มีประวัติค้างชำระหนี้ และได้ผ่านการเป็นลูกหนี้ NPL เพราะค้างเกิน 3งวดติดกัน
2.2 บัญชีสินเชื่อนี้ถูกขายออกจากธนาคารต่างประเทศไป AMC เรียกว่า ขายหนี้เสียให้กับ AMC ไปบริหาร
2.3 ตอนขายออกไป ยอดหนี้ในบัญชีจะแสดงตัวเลขเป็นศูนย์ เหมือนกับว่า AMC ได้มาจ่ายหนี้ให้แทน ซึ่งในความเป็นจริงหนี้ที่มีอยู่ 100 บาท AMC อาจซื้อไป 50 บาท ก็ได้ แต่สุดท้ายคือหนี้ที่มีอยู่เป็นศูนย์
2.4 ธนาคารต่างประเทศส่งข้อมูลบัญชีสินเชื่อนี้ในเดือนที่ขายออกไปโดยมีสถานะบัญชีหรือ Account status "แสดงรหัสว่า 42 โอนหรือขายหนี้ให้กับนิติบุคคลอื่นหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริง
2.5 ธนาคารของรัฐที่ไปยื่นขอสินเชื่อเขาเข้ามาดูข้อมูลเห็นว่าคุณผู้หญิงเคยเป็นหนี้เสียแล้วถูกขายออกไป ไม่รู้ว่าชำระแล้วหรือยัง เขาก็อาจกลัวว่าจะเอาเงินกู้จากธนาคารของรัฐที่ยื่นขอไปชำระหนี้ให้กับ AMC ก็ได้เพราะตัวธนาคารไม่รู้ว่ามีรายการเจรจาชำระหนี้กันกับ AMC นั้นอย่างไร เขาไม่เห็นเอกสารใดๆ ประกอบเลยจากฝั่งของคนที่ยื่นขอกู้
3. สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อขอให้ธนาคารของรัฐพิจารณาเพิ่มเติมคือ
3.1 คุณผู้หญิงมายื่นคำขอตรวจข้อมูลเครดิตบูโรของตนเองเพื่อให้เห็นจะๆ ว่าประวัติที่แสดงเป็นอย่างไร
3.2 เอาเอกสารการชำระหนี้กับ AMC ไปแสดงประกอบว่าบัญชีที่เคยมีกับธนาคารต่างประเทศและได้มีการขายออกไปนั้นจบแล้ว เคลียร์แล้ว ปิดบัญชีหมดแล้ว ไม่มีประเด็นค้างใดๆ อีกแล้ว
3.3 อธิบายและเล่าให้เขาฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า ที่ไปค้างชำระในอดีตนั้นเป็นเพราะอะไร อันนี้สำคัญอย่าโกหกเด็ดขาด
3.4 แสดงรายได้ แสดงเงินฝาก ให้เห็นว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีฐานะความมั่นคงแล้ว
เมื่อได้ดำเนินการอย่างนี้ไปทั้งหมดแล้วครบถ้วน ที่เหลือก็เป็นเรื่องกระบวนการพิจารณาเงินกู้ครับ
เราไปแก้ไขข้อมูลข้อเท็จจริงในอดีตที่อาจจะพลาดหลงให้ผิดไปจากความจริงที่ว่า เราเป็นคนเคยค้าง ค้างจนเขาเอาบัญชีที่เรามีอยู่กับเขาไปขาย เราก็เจรจาจนชำระหมด ปัจจุบันมั่นคงพอสมควร ต้องการโอกาส ขอให้พิจารณา และลึกๆ ผมก็เข้าใจว่าเมื่อไปเป็นหนี้ใคร ก็ต้องใช้หนี้ ไม่มีใครมีความสุขหากยังมีหนี้คาใจดังข้างต้น....สัญญาต้องเป็นสัญญาครับ
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น