ราคาทองคำที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2556 ที่ผ่านมา เป็นทิศทางที่สวนทางอย่างรุนแรงกับการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และยังถือเป็นฝันร้ายของนักลงทุน ซึ่ง นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรก ราคาทองคำในประเทศได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงมากถึง 9% ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง 4.93%
ราคาทองคำที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้ทางสถาบันและกองทุนชั้นนำของโลก ปรับการคาดการณ์ราคาทองคำลง เช่น แบงก์ออฟอเมริกา, เมอร์ริล ลินช์ และบาร์เคลย์ แคปิตอล ขณะที่กองทุน SPDR ก็ได้ลดการถือครอง ทองคำลงในไตรมาส 1 ถึง 129.56 ตัน แสดงถึงมุมมองเชิงลบต่อทิศทางของราคาทองคำ
ส่วน ศูนย์วิจัยทองคำ รายงานว่า ในเดือนมีนาคม ราคาทองคำในไทยปรับตัวลดลงประมาณบาทละ 250 บาท หรือลดลงประมาณ 1.11% จากวันที่ 28 ก.พ. ราคาทองคำอยู่ที่บาทละ 22,450 บาท ได้ปรับลดลงมาปิดที่บาทละ 22,200 บาท เมื่อ วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากช่วงเดือนมีนาคม ค่าเงินบาทได้ปรับแข็งค่าขึ้นประมาณ 1.61% จากระดับค่าเงินบาท ที่ 29.76 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ระดับ 29.28 บาท ต่อดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
นายภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) ประจำเดือนเมษายน มีค่าเท่ากับ 52.84 จุด สะท้อนมุมมองของกลุ่มผู้ค้าและนักลงทุนที่ดีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าค่ากลางที่ 50 จุดเพียงเล็กน้อย สะท้อนกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจอาจยังไม่มั่นใจต่อราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นมากนัก แต่ยังดีกว่าในเดือนมีนาคมที่อยู่ระดับต่ำ 44.07 จุด
โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อมั่นว่า โอกาสที่ราคาทองคำจะปรับขึ้นมาจากปัจจัยบวกเรื่องปัญหาหนี้ยุโรปที่เกิดจากไซปรัส และการเมืองอิตาลี ที่ส่งผลให้ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ส่วนปัจจัยกดดันราคาทองคำมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ตลอดจนการเทขายทองคำของกองทุน นอกจากนี้ความน่าสนใจในการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง และประเด็นค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในช่วงสามเดือนข้างหน้า กลุ่มผู้ลงทุนและกลุ่มผู้ค้าทองคำ มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกันว่า ราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้น มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 65.06 จุด แต่เมื่อเทียบกับระดับความเชื่อมั่นในช่วงเดือนมีนาคมที่อยู่ระดับ 75.72 จุด ถือว่าลดลงมากถึง 14.04% สะท้อนมุมมองระยะยาวที่เริ่มมีทัศนคติในเชิงบวกลดลง
ส่วนราคาทองคำในประเทศ เชื่อว่า ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวในกรอบที่บาทละ 21,500-23,000 บาท และมีช่วงค่าเฉลี่ยราคาระหว่าง 22,000-22,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ด้านมุมมองของผู้ค้าทองคำ นายจิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า ปัจจัยหลักที่มีผลต่อราคาทองคำให้ปรับลดลง มาจากกระแสข่าวลือว่านักลงทุนรายใหญ่ในตลาดทองคำโลก "จอร์จ โซรอส" ขายทองคำออกมาเพิ่ม ส่งผลเชิงจิตวิทยาของนักลงทุนเทขาย ซึ่งสวนทางกับปกติที่หากมีข่าวเรื่องความตึงเครียดทางการเมือง เช่น กรณีของเกาหลีเหนือ จะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ แต่นักลงทุนยังรอดูว่าราคาทองคำจะปรับลดลงอีกหรือไม่
ต้องยอมรับว่าปัจจัยที่จะมากดดันการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในปีนี้มีไม่น้อย ดังนั้นนักลงทุนควรต้องระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ประเภททองคำให้มาก แม้ครั้งหนึ่งจะเคยได้ขึ้นชื่อว่า เป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงประเภทหนึ่ง
ข่าวเด่น